ตองแห้งหินชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง ๐.๔-๑ ม. กิ่งและลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มีสันมน เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปรี กว้าง ๒.๒-๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางคล้ายกระดาษ ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนสากทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น เห็นชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบปลายแยกเป็นแฉกคล้ายหวี มี ๗-๑๓ แฉก มีขนละเอียด
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ดอกสีขาว มีแบบเดียว คือ ดอกที่มีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ระดับเดียวกัน ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาว ๑-๑.๘ มม. ปลายแหลม ตั้งตรง ขอบเป็นขนครุย บางครั้งมีขนสากที่สัน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๓-๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๕-๐.๖ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนคายที่ปลายกลีบ ด้านในเกลี้ยงเกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๓-๐.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๐.๙-๑.๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑๐-๓๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๒-๒.๔ มม. เกลี้ยงยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๐.๓-๐.๔ มม.
ผลแบบผลแห้งแยกแล้วแตก รูปทรงรี กว้าง ๑.๓-๑.๕ มม. ยาว ๑.๘-๒.๓ มม. เกลี้ยง เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงสามเหลี่ยม เว้าด้านข้างขั้ว นูนหรือแบนด้านตรงข้าม แต่ละช่องมี ๑๐-๒๐ เมล็ด
ตองแห้งหินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบแล้งหรือป่าผลัดใบในพื้นที่โล่ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.