ชงโคภูคาเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือจับ กิ่งอ่อนเป็นร่อง เกือบเกลี้ยงจนถึงเกลี้ยง กิ่งแก่แบน ผิวหยาบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๖.๕-๑๕ ซม. ยาว ๕.๕-๑๔ ซม. ปลายไม่แยกเป็นแฉกหรืออาจเป็นแฉกตื้นๆ ลงมาตามเส้นกลางใบประมาณหนึ่งในห้าของความยาวแผ่นใบ ปลายแฉกแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนและด้านล่างเกลี้ยง เมื่ออ่อนมีขนแข็ง เส้นโคนใบ ๘-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๓-๖ ซม. เมื่ออ่อนมีขนแข็ง หูใบร่วงง่าย รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑.๓ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง กว้าง ๓-๖ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ก้านช่อยาว ๓-๕ ซม. โคนก้านช่อและก้านดอกมีใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาว ๒-๓ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว ๑-๑.๒ ซม. ฐานดอกไม่สมมาตร รูประฆัง เป็นร่อง ตรง ยาว ๕-๗ มม. กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีเหลืองอมน้ำตาล มี ๕ กลีบ รูปไข่ถึงรูปกลม ขนาดไม่เท่ากัน ยาว ๕-๘ มม. ก้านกลีบดอกยาว ๒-๔ มม. มีขนสีน้ำตาลทองหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ที่สมบูรณ์ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๒ ซม. อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. ติดด้านหลัง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๗ เกสร มี ๕ เกสรที่เชื่อมติดกัน ยาว ๓-๔ มม. และอีก ๒ เกสร มีขนาดเล็กมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุลประมาณ ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม สีเขียวอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนกว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ฝักอ่อนสีน้ำตาล เมล็ดแบน ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๔ เมล็ด
ชงโคภูคาเป็นพรรณไม้ที่มีรายงานพบใหม่ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ พบตามป่าดิบเขาบริเวณที่โล่งหรือใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ และทางตอนเหนือของเวียดนาม.