งูเขียวน้อย

Luisia zollingeri Rchb. f.

ชื่ออื่น ๆ
เอื้องลิ้นดำ (ทั่วไป)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ต้นรูปทรงกระบอกยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับหรือกึ่งเรียงเวียน รูปทรงกระบอกยาวและแข็ง ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามข้อตรงข้ามใบ ดอกสีเขียวนวลหรือสีเหลืองทอง กลีบปากสีม่วงแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก มีสันตามยาว ๓ สัน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

งูเขียวน้อยเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ต้นมักโค้งลงแล้วชี้ขึ้น รูปทรงกระบอก อาจยาวได้ถึง ๕๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม.ปล้องยาว ๑-๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับหรือกึ่งเรียงเวียน รูปทรงกระบอกยาวและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ มม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายมน โคนเป็นปลอกหุ้มต้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามข้อตรงข้ามใบ แทงทะลุโคนใบส่วนที่เป็นปลอกหุ้มต้น ก้านและแกนช่อดอกยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ดอกบานครั้งละหลายดอกพร้อมกัน ใบประดับรูปกลม เล็กมาก ดอกสีเขียวนวลหรือสีเหลืองทอง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๘.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปไข่กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมน



กลีบข้างบิดตัวลงมาอยู่ในระนาบเดียวกันกับกลีบปากขนาดเท่ากับกลีบเลี้ยงกลีบบน กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบคู่ข้างอยู่ในระนาบเดียวกันกับกลีบเลี้ยงกลีบบน รูปไข่กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายมนกลีบปากสีม่วงแดงตลอดทั้งกลีบ กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบปากช่วงโคนเว้า มีก้อนนูนกลม ๒ ก้อน ไม่มีหูกลีบปาก กลีบปากช่วงปลายรูปค่อนข้างกลมและโค้งนูน เส้าเกสรอ้วนสั้น สีขาวนวลฝาปิดกลุ่มเรณูสีเหลือง รูปคล้ายหมวก กลุ่มเรณูค่อนข้างกลม สีเหลือง มีร่องโค้ง มี ๒ กลุ่ม ติดอยู่บนแถบบางใส ปลายแถบพับงอเป็นแผ่น มีสารเหนียวทางด้านนอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นโพรงเต็มด้านหน้าเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๓ ซม. โคนสอบเรียว มีสันตามยาว ๓ สัน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 งูเขียวน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง พบตามป่าดิบเขาป่าเบญจพรรณ และป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งูเขียวน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Luisia zollingeri Rchb. f.
ชื่อสกุล
Luisia
คำระบุชนิด
zollingeri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1824-1889)
ชื่ออื่น ๆ
เอื้องลิ้นดำ (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สร้อยนภา ญาณวัฒน์ และ รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง