ครามป่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมหรือเกือบกลม เกือบทุกส่วนมีขนสีน้ำตาล หนาแน่น กิ่งแก่กลม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๒.๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนกลมมน หรือรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยห่าง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ บริเวณเส้นกลางใบด้านบนเป็นร่องตื้น ส่วนอื่นเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย ด้านล่างบริเวณเส้นใบมีขนหนาแน่นส่วนอื่นเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีต่อมสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. ด้านบนเป็นร่อง มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบยาว ๒-๔ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๕ มม. ก้านและแกนช่อมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น พบบ้างที่ขนมีสีม่วงเข้มในต้นสดช่อดอกย่อยแบบช่อฉัตร แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกเล็ก สีขาวแกมม่วงแดง ก้านดอกยาวไม่เกิน ๒ มม. หรือไร้ก้าน ใบประดับเป็นเส้น ยาวไม่เกิน ๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายมีติ่งรูปลิ่มแคบ ๕ ติ่ง ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกยาว ๒.๕-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกมนหรือกลม แฉกบน ๔ แฉก ขนาดเท่า ๆ กัน แฉกล่างใหญ่กว่าเล็กน้อย ด้านนอกและหลอดมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ แต่ละคู่ยาวกว่ากันเล็กน้อยและยาวพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนประปราย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแยก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. มีขนประปราย สุกสีเหลืองส้มส่วนล่างมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมน ด้านในเป็นสัน มี ๔ เมล็ด
ครามป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบหรือพื้นที่โล่ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ และเวียดนาม.