ขางปอยชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๔ ม. ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยง กิ่งอ่อนมีขน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง ๑-๗ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมน เว้า หรือรูปลิ่ม มีต่อมใกล้โคนใบ ๒ ต่อม ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมนถี่ มีขนแข็งตามแผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาว ๑-๗ ซม. พบน้อยมากที่ยาวได้ถึง ๙ ซม. มีขนแข็ง หูใบรูปแถบ ยาว ๓-๗ มม. มีขนแข็ง
ดอกแยกเพศร่วมช่อหรือต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ มีทั้งออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือออกรวมเป็นกลุ่มซึ่งพบได้ถึง ๘ ช่อ ช่อยาว ๑-๖ ซม. ดอกเล็กมากไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก แต่ละช่อมีดอกเพศผู้จำนวนมาก ออกรวมกันเป็นกระจุกตามแกนช่อ กระจุกละ ๕-๘ ดอก ใบประดับรูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๐.๘-๒ มม. ด้านนอกมีขนแข็ง ก้านดอกยาว ๐.๒-๐.๓ มม. ดอกเพศผู้สีขาวอมเขียวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ด้านนอกมีต่อมและมีขนละเอียด เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ขนาดเล็กมาก ดอกเพศเมียมักออกเดี่ยวหรือออกร่วมช่อที่โคนแกนช่อดอก ใบประดับรูปไข่หรือรูปไต ค่อนข้างเบี้ยว กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๒-๕ มม. ขอบหยักแหลม ๔-๗ หยัก มีขนแข็งทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบประดับเห็นชัด ก้านดอกสั้นมากถึงไม่มีดอกเพศเมียสีขาวอมเขียว มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๐.๗-๑ มม. ด้านนอกมีขนแข็ง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มีขนแข็ง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากถึงไม่มียอดเกสรเพศเมียเรียวเป็นเส้น ๒-๓ เส้น ยาว ๑.๕-๓ มม. ปลายเส้นเป็นแฉกครุย
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้นมี ๓ พู มีขนแข็ง เมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่
ขางปอยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามที่โล่ง ริมลำธาร ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมาจีน และเวียดนาม.