กะลาขี้แมวเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า กาบใบเรียงสลับซ้อนกันดูคล้ายลำต้น สูง ๓-๔ ม.
ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน กว้าง ๑๐-๑๒ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ แผ่นใบด้านล่างมักมีสีเขียวอมม่วง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. ระหว่างรอยต่อของก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบรูปสามเหลี่ยมกว้างปลายมน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ตามขอบมีขน
ช่อดอกค่อนข้างกลม ออกจากเหง้าขึ้นมาเหนือดิน กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๓๐ ซม. ดอกเป็นกระจุกแน่น มีใบประดับและใบประดับย่อยสีแดงหุ้มใบประดับวงนอกมี ๔-๕ ใบ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายเป็นติ่งหนามผิวมีขน ไม่มีดอกอยู่ภายใน ใบประดับวงในรูปใบหอกกลับปลายมน บริเวณใกล้ส่วนปลายกว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ผิวมีขนนุ่ม ใบประดับย่อยยาวประมาณ ๒ ซม. ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก ผิวมีขนละเอียด กลีบเลี้ยงสีแดง ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก มีแฉกลึกลงมากเพียงแฉกเดียวผิวมีขน กลีบดอกสีแดง ติดกันเป็นหลอดแต่สั้นกว่าหลอดของกลีบเลี้ยงมาก ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปแถบ แฉกบนกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. แฉกข้าง ๒ แฉกเล็ก กว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๖ อัน แต่ ๕ อันได้เปลี่ยนไปเป็นเกสรเพศผู้เป็นหมันคือ ลดรูปหายไป ๒ อัน อีก ๓ อันติดกันเป็นแผ่นเดียว สีแดง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. เรียกว่า กลีบปาก เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี ๑ อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๘ มม. มีขน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก
กะลาขี้แมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.