ซุมหินเป็นไม้เลื้อย กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนสั้น กิ่งแก่เหลี่ยมค่อนข้างมน ลำต้นแก่มีเนื้อไม้
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓-๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางเกลี้ยง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า อาจมีขนสั้นประปราย ส่วนมากเส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น พบน้อยที่มี ๒ เส้น หรือ ๕ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเห็นชัด ก้านใบยาว ๑-๕ มม. เกลี้ยง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเล็ก ขอบเป็นแฉกลึกคล้ายขนแข็ง มี ๕-๑๑ แฉก มีขนสีเหลืองอมน้ำตาล
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกมีขนสั้น ช่อแขนงหรือช่อย่อยที่อยู่ตามแกนช่อมักออกเป็นคู่ตรงข้าม มี ๑-๓ คู่ ช่อแขนงแบบช่อกระจุก ค่อนข้างแน่น ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ก้านช่อแขนงยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. มีขนสั้น ใบประดับรูปสามเหลี่ยม เรียวแหลม ยาว ๑-๙ มม. ดอกเล็ก สีขาวหรือสีนวล ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. หรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม เหยียดตรง ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในมีขนสากคาย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑-๑.๕ มม. ปากหลอดผายออกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนที่ปลายแฉก ด้านในมีขนสีขาวยาวนุ่มหนาแน่นที่ปากหลอดกลีบดอกและบริเวณกลางแฉกกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๕-๓ มม. เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ที่ส่วนบนของรังไข่ในวงรอบของกลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๒.๕-๖ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียแบน ยาว ๑-๑.๕ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ปลายผลบุ๋มเป็นแอ่งตื้นมีขน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก รูปทรงค่อนข้างมนมีเหลี่ยม
ซุมหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ พบตามที่โล่งริมทางในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม.ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน.