กะลาเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นเทียมอยู่เหนือดิน เกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบกันแน่น ขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ ๕ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกกลับ กว้าง ๑๐-๑๕ ซม. ยาว ๔๐-๖๐ ซม. ปลายเรียวแหลมและมีติ่งยาว โคนมนหรือรูปหัวใจ ใบอ่อนบริเวณเส้นกลางใบมีขนเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ ๔ ซม. ลิ้นใบยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายมน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ดอกจำนวนมากอัดกันแน่น รูปร่างคล้ายรูปพีระมิด กว้าง ๑๐-๑๒ ซม. ยาวประมาณ ๘ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๑.๕ ม. ใบประดับสีชมพูหรือแดง ขอบขาวหรือสีขาวล้วน ใบประดับที่เรียงอยู่วงนอกของช่อ ๘-๑๓ ใบ ไม่มีดอกอยู่ภายใน รูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๗- ๙ ซม. ปลายแหลม มีติ่งหนามอยู่ด้านนอกต่ำจากปลายเล็กน้อยใบประดับที่มีดอกเรียงซ้อนกันหลายวง วงซึ่งอยู่ถัดจากใบประดับที่ไม่มีดอก รูปขอบขนาน ปลายมน กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๕-๖ ซม. ใบประดับที่มีดอกวงในมีขนาดเล็กกว่า กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๓.๕-๔ ซม. ใบประดับย่อยรองรับดอกสีขาวเรือแดง โคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแยกลึกเป็น ๒ แฉกแหลมและมีขน กลีบเลี้ยงสีขาวเรื่อแดงและแดงเข้มตรงส่วนปลาย ยาวประมาณ ๒.๘ ซม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๓ แฉกเล็ก ๆ และมีแฉกลึกมากเพียงแฉกเดียว กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปแถบ ตรงปลายสีแดง แล้วค่อย ๆ จางไปหาโคน แฉกบนกว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ปลายมนและงุ้ม แฉกข้าง ๒ แฉกมีขนาดแคบกว่าแฉกบนเล็กน้อย แฉกปากสีชมพูหรือสีแดงและแดงเข้มบริเวณกลางและปลายแผ่น รูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ปลายหยักเล็กน้อย กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน ก้านชูอับเรณูแบน สีขาวเรื่อแดง ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. อับเรณูยาว ๕-๘ มม. สีแดงเข้ม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ สีขาว ยาวประมาณ ๕ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก มีขนหนาแน่น
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแล้วค่อยเรียวไปหาโคน หรือรูปกรวยคว่ำ ยาวประมาณ ๒ ซม. ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมาก สีดำ เยื่อหุ้มเมล็ดบางใส สีขาว
กะลามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ในต่างประเทศพบที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย
นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและไม้ตัดดอก น้ำต้มจากผลใช้หยอดแก้ปวดหู ชะล้างแผล ในอินโดนีเซียเชื่อว่ากินใบที่ต้มแล้วจะช่วยระงับกลิ่นตัวได้ ภาคใต้ของไทยและมาเลเซียนิยมนำดอกมากินกับขนมจีนหรือกินเป็นผักสด.