ซีลอนแคสเซียเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งแผ่ออกและห้อยลง กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ เรียงเวียน ใบยาว ๑๕-๓๕ ซม. ไม่มีต่อม มีใบย่อย ๑๖-๓๐ ใบ รูปไข่ถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. ปลายมนหรือเว้าบุ๋ม โคนกลมมนและเบี้ยวขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีขนละเอียดหรือเกลี้ยงด้านล่างมีขนสั้นแนบชิด ก้านใบย่อยสั้น หูใบรูปเคียวมี ๒ แฉก แฉกบนปลายเรียวแหลม ยาวได้ถึง ๑ ซม. แฉกล่างรูปหัวลูกศร ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ยาวประมาณ ๕ มม. หูใบร่วงง่าย มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๕-๘ ซม. ใบประดับรูปไข่ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๓-๘ มม. ปลายแหลม ร่วงง่าย มีขนคล้ายไหม ใบประดับย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายแหลม ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๓-๖ มม. ปลายมน มีขนละเอียด กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อม กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดต่างกันเล็กน้อยสีชมพูถึงสีชมพูอมส้มหรือสีแดง เปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองหรือสีส้มเมื่อดอกใกล้โรย รูปไข่ถึงรูปไข่กลับกว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายมนหรือกึ่งแหลม มีขนละเอียด กลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๗ เกสร เกสรที่อยู่ด้านล่าง ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสีเหลืองยาว ๒.๕-๓ ซม. โค้งงอ ตรงกลางป่อง อีก ๔ เกสร สั้นกว่า เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายทรงกระบอก มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงกระบอก ยาว ๒๐-๓๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. สีดำค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ อาจมีรอยคอดเล็กน้อยระหว่างเมล็ด มีผนังกั้น มีหลายเมล็ด เมล็ดฝังอยู่ในเนื้อผลแห้ง
ซีลอนแคสเซียเป็นพรรณไม้ต่างประเทศมีถิ่นกำเนิดในศรีลังกาและคาบสมุทรอินเดีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำด้ามเครื่องมือ ดุมล้อ.