ซิบะดุเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาล กิ่งรูปทรงกระบอกถึงเป็นเหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อมที่ซอกระหว่างเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๒.๕ ซม. เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๘ ซม. เกลี้ยง ก้านช่อดอกมีทั้งสั้นมากจนถึงยาว ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. แต่ละดอกมีใบประดับย่อย ๒ ใบ รูปไข่ ยาวกว่าก้านดอกเล็กน้อยร่วงง่าย ดอกสีเขียวแกมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายหลอดแยกเป็นแฉกตื้น ๔ แฉก คล้ายมีปลายตัด กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง ปลายกลีบเป็นจะงอยงุ้มเข้าด้านใน ขอบกลีบเรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๘ เกสร เรียงเป็น ๒ วง วงนอกยาวกว่าวงใน ทั้งหมดสั้นกว่ากลีบดอก ก้านชูอับเรณูแบน อับเรณูติดด้านหลัง จานฐานดอกรูปวงแหวน สีเขียว เป็นพูไม่ชัดเจน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปกรวย เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียหนา รูปกรวยสั้น สั้นกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปขอบขนาน กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. มีจานฐานดอกและกลีบเลี้ยงติดทน แต่เห็นไม่ชัด เมล็ดรูปคล้ายผล มีร่องตามยาว เปลือกเมล็ดเป็นเยื่อบางสีขาว มี ๑ เมล็ด
ซิบะดุมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๑๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและเมียนมา
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.