เขาแพะ

Cleisostoma arietinum (Rchb. f.) Garay

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปทรงกระบอก ปลายเรียวและมักโค้งลง ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามซอกใบ ดอกสีขาวแกมม่วง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน

เขาแพะเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ต้นอาจตั้งตรง เอน หรือห้อยลง ยาวได้ถึง ๒๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียวในแนวเกือบตั้งฉากกับลำต้น ระยะห่างระหว่างใบประมาณ ๑ ซม. ใบรูปทรงกระบอก มักมีสีเขียวอมม่วง ปลายเรียวเล็กและมักโค้งลง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. ยาว ๔-๖ ซม. โคนใบแผ่เป็นกาบสั้น ๆ หุ้มลำต้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะค่อนข้างโปร่ง ออกตามง่ามใบใกล้ยอด อาจอยู่ในแนวเดียวกับใบหรือห้อยลง ทั้งช่อยาวกว่าใบเล็กน้อยหรือยาวเป็น ๒ เท่าของใบ ก้านดอกและรังไข่ยาว ๖-๗ มม. ดอกสีขาวแกมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. กลีบเลี้ยงทั้ง ๓ กลีบคล้ายกัน รูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงอันบนสั้นกว่ากลีบเลี้ยงด้านข้างเล็กน้อย กลีบดอกด้านข้างรูปขอบขนานแกมรูปช้อน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบปากอวบหนา ช่วงปลายสีม่วง ยาวประมาณ ๑ มม. ลักษณะคล้ายหัวลูกศร ด้านบนมีเนื้อเยื่อนูน มีร่องตามแนวกลาง ช่วงโคนมีหูกลีบปากรูปสามเหลี่ยมอยู่ในแนวตั้ง ปลายและขอบสีม่วงเข้ม ด้านล่างของโคนกลีบปากเป็นถุงสีขาวปลายมน ยาวประมาณ ๑ มม. เส้าเกสรสั้น โคนเส้าเกสรมีแผ่นเยื่อขวางปากถุง ฝาครอบกลุ่มเรณูสีน้ำตาลอ่อน กลุ่มเรณูมี ๒ คู่ แต่ละคู่ประกอบด้วยกลุ่มเรณูขนาดใหญ่และเล็กเกาะกันเป็นรูปค่อนข้างกลม ก้านกลุ่มเรณูเป็นแผ่นบางใสและกว้าง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน

 เขาแพะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (รัฐอัสสัม) พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขาแพะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cleisostoma arietinum (Rchb. f.) Garay
ชื่อสกุล
Cleisostoma
คำระบุชนิด
arietinum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav
- Garay, Leslie Andrew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
- Garay, Leslie Andrew (1924- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง