งูก้านปล้องเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรืออาจเป็นไม้พุ่มเตี้ย กิ่งเกลี้ยงเป็นมัน หรืออาจมีช่องอากาศประปรายตามกิ่งแก่
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีถึงรูปรี แกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยงเป็นมัน ใบแห้งมักออกสีน้ำตาลแดง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น ปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบเส้นใบย่อยแบบร่างแห พอสังเกตเห็นได้ทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๐.๕-๒ ซม. เมื่ออ่อนมีขนประปราย หู ใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมถึงรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ช่อมักแผ่กว้างมากกว่ายาว กว้าง ๔-๖ ซม. ทุกส่วนเกลี้ยง โคนก้านช่อ ก้านช่อย่อย และโคนก้านดอก มีใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมรองรับ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นติ่งแหลม ๔-๕ แฉก เกลี้ยง กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวแกมเหลือง ด้านนอกมีขนต่อมกระจายทั่วไป ด้านในเกลี้ยง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ของส่วนที่แยกเป็นแฉก ปลายแยกเป็นแฉก ๔-๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔-๕ มม. มีขนครุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนหนาแน่นเกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ยาวประมาณ ๓ มม. โคนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒.๕ มม. ส่วนปลายใหญ่กว่าส่วนโคน ยอดเกสรเพศเมียหยักเป็น ๒ ลอน
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรี กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดสีขาว ปลายผลมีโคนกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดสีน้ำตาล รูปคล้ายผล กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. และหนาประมาณ ๒ มม. มี ๒ เมล็ด
งูก้านปล้องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามเขาหินปูน และใกล้แหล่งน้ำ ตามชายป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทั่วไปที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่จีนและภูมิภาคอินโดจีน.