ครามน้ำเป็นไม้พุ่ม ไม้ต้นขนาดเล็ก หรือไม้รอเลื้อย สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งเกลี้ยง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๖-๒ ซม. ยาว ๑.๒-๓.๖ ซม. ปลายมนกลมหรือแหลม มีติ่งหนามสั้น โคนมน เบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๕-๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๑-๒ มม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศเมียออกเดี่ยวทางปลายกิ่ง ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามซอกใบที่ตํ่าลงมา มีใบประดับ ดอกสมมาตรตามรัศมีกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือก ปลายแยกเป็น ๖ แฉก ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๘-๓.๔ มม. ก้านดอกยาว ๑.๕-๕ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนหรือสีส้ม กว้าง ๑.๘-๓.๔ มม. ยาว ๓-๕ มม. ค่อนข้างบาง เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันยาว ๑.๑-๑.๖ มม. อับเรณูแยกเป็น ๒ พู ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศเมียก้านดอกยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวหรือสีแดงอมชมพู เนื้อบาง ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. เมื่อเป็นผลจะยาวขึ้นเป็น ๒.๓-๗.๘ มม. ปลายแฉกมีติ่งหนาม ติดทน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูประฆัง กว้าง ๐.๘-๑.๒ มม. ยาว ๐.๕-๑.๒ มม. ปลายเว้าตื้นมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ถ้ามีอาจยาว ๐.๒-๐.๘ มม. ยอดเกสรเพศเมีย ๓ ยอด แต่ละยอดยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายแยก เป็นแฉก ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. กางออก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๔.๕-๗ มม. สีส้มแดงถึงสีม่วงแดง เมื่อแห้งสีน้ำตาลอมแดง ปลายผลเรียบหรือมียอดเป็นมงกุฎตื้นก้านผลยาว ๒-๖ มม. กลีบเลี้ยงใหญ่กว่าผล ติดทน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑.๗ ซม. เนื้อบางคล้ายกระดาษเมล็ดเป็นสามมุม กว้าง ๒.๒-๒.๘ มม. ยาว ๓.๖-๔ มม. หนา ๒.๒-๒.๘ มม. สีเหลืองหรือสีแดง
ครามน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าเกือบทุกประเภท ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๓๖๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา พม่า ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู.