ซาด

Erythrophleum succirubrum Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
คราก (ชุมพร); เตรีย (เขมร-สุรินทร์); พันซาด (ตะวันออก, ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลอ่อน แตกล่อนเป็นสะเก็ด มียางสีแดง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่เรียงเวียน ใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียงตรงข้าม มีช่อแขนงใบ ๔-๖ ช่อ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๘-๑๓ ใบ เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ช่อดอกช่อแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๖-๑๐ เมล็ด

ซาดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อน แตกล่อนเป็นสะเก็ด มียางสีแดง

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ยาว ๑๒-๑๙ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียง ตรงข้าม มีช่อแขนงใบ ๔-๖ ช่อ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๘-๑๓ ใบ เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๒-๑๐ ซม. ปลายมนหรือหยักเว้าตื้น ๆ โคนมนกลมหรือรูปหัวใจตื้น เบี้ยว ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบประกอบชั้นที่ ๑ ยาว ๕.๕-๑๒ ซม.


แกนใบประกอบชั้นที่ ๑ ยาว ๑๑.๕-๑๓.๕ ซม. ก้านใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๑-๑.๕ ซม. แกนใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๑๖-๒๔ ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๒ มม. หูใบขนาดเล็กมาก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ช่อ แต่ละช่อกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑๔-๒๒ ซม. มีขนทั่วไป ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ฐานดอกรูประฆังแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนประปราย ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปแถบหรือรูปช้อน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน ขอบมีขนครุย มีเส้นกลางกลีบตามยาว ๑ เส้น เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกจากกันเป็นอิสระ ยาว ๒.๕-๔ มม. ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูติดที่ด้านหลัง มีขอบสีน้ำตาลก้านรังไข่ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุล ๖-๑๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นจุด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานกว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๑๓-๑๘ ซม. ขอบหนา ก้านผลยาวประมาณ ๕ มม. เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมกว้าง ๘-๙ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. เรียงตามขวางของฝัก มี ๖-๑๐ เมล็ด

 ซาดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเสา ทำพื้น ทำเกวียนหรือใช้เผาถ่านให้ถ่านคุณภาพดี ใบและเมล็ดเป็นพิษ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซาด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Erythrophleum succirubrum Gagnep.
ชื่อสกุล
Erythrophleum
คำระบุชนิด
succirubrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
คราก (ชุมพร); เตรีย (เขมร-สุรินทร์); พันซาด (ตะวันออก, ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา