กะเม็งเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นแตกกิ่ง ทอดไปตามพื้นหรือตั้งสูง ๑๐-๖๐ ซม. มีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๐.๖-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. โคนเรียวแหลม ขอบเรียบหรือจักห่าง ๆ ๒-๓ จักช่วงปลายใบ แผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน มีขนสั้นสาก ไม่มีก้านใบหรือก้านสั้น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ปลายกิ่งหรือ ๑-๓ ช่อตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๗ ซม. มีขนสั้นสาก วงใบประดับ ๕-๖ ใบ สีเขียว รูปไข่ปลายแหลม
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ผลของดอกวงนอกรูปสามเหลี่ยมสันมน ส่วนผลของดอกวงในรูปสี่เหลี่ยมสันมน ยาว ๒-๘ มม. ผลแก่แห้งสีดำ ไม่แตก
กะเม็งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามที่ดอนและที่ลุ่มชื้นทั่วไป ในต่างประเทศพบตามเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก
ต้นกะเม็งมีเรซิน มีแอลคาลอยด์ ecliptine (Chopra, Nayar and Chopra; 1956) และ nicotine (Keys, 1976) ทั้งต้นผสมกับลูกมะเกลือดิบโขลกใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีดำ ต้นกะเม็งใช้เป็นยาบำรุงเลือด ใบและรากใช้เป็นยาถ่ายและทำให้อาเจียน รากใช้เป็นยาขับลม ในอินเดียใช้น้ำคั้นจากต้นสดมาสักเพื่อให้รอยสักเป็นสีเขียวคราม ใช้ย้อมผมให้ดำ ใบใช้โขลกพอกแผลสดห้ามเลือด ในอินโดนีเซียใช้น้ำคั้นจากลำต้นทาแก้โรคกลาก.