ซางหม่นเป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ สูง ๑๕-๒๕ ม. เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ ลำตรงอัดกันเป็นกอไม่แน่นมาก ปลายลำโค้งเล็กน้อย ลำรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๑๘ ซม. ปล้องยาว ๓๐-๔๐ ซม. ปล้องล่าง ๆ ของลำมักสั้น เนื้อหนา ลำอ่อนมีนวลและขนสีขาว ลำแก่สีเขียวอ่อน ข้อล่าง ๆ ของลำมักมีรากอากาศ แตกกิ่งแขนงตั้งแต่กึ่งกลางลำหรือเหนือกึ่งกลางลำขึ้นไป แต่ละข้อมีหลายกิ่งโดยทั่วไปกิ่งกลางเด่น ๑ กิ่ง และมีกิ่งรองเด่น ๒ กิ่ง กิ่งที่เหลือมีขนาดไล่เลี่ยกัน กาบหุ้มสีเหลืองอมเขียว สีเขียวอมแดงถึงสีเขียว หรือสีเขียวอมเทา กว้าง ๒๕-๖๐ ซม. ยาว ๑๕-๔๕ ซม. ปลายมนถึงตัดด้านหลังมีขนสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมม่วงถึงสีดำ โดยเฉพาะครึ่งบนของกาบ ใบยอดกาบสีม่วงอมเขียวกางออกถึงพับลงเล็กน้อย รูปใบหอกถึงรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๓๕ ซม. โคนด้านในมีขน ลิ้นกาบเป็นแถบหรือรูปโดม สูง ๐.๗-๑.๕ ซม. ขอบหยักซี่ฟัน กาบหุ้มลำร่วงง่าย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ มี ๕-๑๕ ใบต่อกิ่ง รูปขอบขนานหรือรูปแถบ กว้าง ๓-๔.๕ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนกลมถึงสอบเรียวแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ค่อนข้างเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ลิ้นใบเป็นแถบ ขอบจักไม่เป็นระเบียบหรือเกือบเรียบ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกที่ปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อดอกย่อยแบบช่อดอกย่อยเทียม แบนด้านข้าง รูปไข่ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๑-๑.๖ ซม. มีกาบช่อย่อย ๒-๓ กาบ กาบช่อย่อย ยาว ๓.๕-๙ มม. มีเส้นตามยาว ๑๘-๒๕ เส้น ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ มี ๓-๔ ดอก มีหรือไม่มีดอกย่อยที่ไม่เจริญ กาบล่างเนื้อบางคล้ายกระดาษ ยาว ๑-๑.๔ ซม. ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม มีขนสั้นนุ่มที่ด้านหลัง มีเส้นตามยาว ๒๒-๒๘ เส้น โคนกาบและขอบเป็นเยื่อ บางและหยักเป็นคลื่น กาบบนเนื้อบางคล้ายกระดาษยาว ๐.๙-๑.๔ ซม. ขอบพับเป็นสันทั้ง ๒ ข้าง มีขนยาวที่สันและขอบ ระหว่างสันทั้ง ๒ ข้าง มีเส้นตามยาว ๓-๕ เส้น ปลายแหลม ไม่มีกลีบเกล็ด เกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูสีเหลือง ยาว ๔-๕ มม. ปลายอับเรณูเป็นติ่งหนาม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปลูกข่าง ปลายมีขนคล้ายแปรง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเกิดเดี่ยว ๆ ปลายมีขนยาวนุ่มเป็นพู่คล้ายขนนก
ซางหม่นยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบหาชื่อชนิดที่ถูกต้อง ที่พบในประเทศไทยเป็นไผ่นำเข้ามาปลูก แต่ไม่พบข้อมูลการนำเข้ามาปลูก และพบว่ามีการให้ชื่อวิทยาศาสตร์แก่ไผ่ซางหม่นว่า D. sericeus Munro แต่จากการตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยาพบว่า D. sericeus เป็นไผ่ที่มีลักษณะสัณฐานวิทยาคล้ายกับไผ่ซางหรือไผ่ซางดำ [D. strictus (Roxb.) Nees] ปัจจุบัน D. sericeus เป็นพันธุ์ (variety) ของไผ่ซาง [D. strictus (Roxb.) Nees var. sericeus (Munro) Brandis]
ประโยชน์ ใช้ทำเครื่องเรือนได้ดี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมีรูปทรงของกอที่สวย ลำเรียงสม่ำเสมอ ไม่อัดแน่นมาก.