ซางดอย

Dendrocalamus membranaceus Munro

ชื่ออื่น ๆ
ไผ่ซางนวล, ไผ่ซาง (ทั่วไป)
ไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ กาบหุ้มสีส้มหรือสีเหลืองถึงสีน้ำตาลแกมส้ม ใบเดี่ยว พบเฉพาะที่กิ่ง เรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกตามปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อแขนงออกเป็นกระจุก ช่อดอกย่อยแบบช่อดอกย่อยเทียม สีเขียวหรือสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ออกดอกและเป็นผลได้เพียงครั้งเดียวแล้วตาย

 ซางดอยเป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ สูง ๑๐-๒๓ ม. ขึ้นเป็นกอโปร่ง เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ ลำตรง รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๑๒ ซม. ปล้องยาว ๒๐-๔๕ ซม. มีเนื้อหนา ๐.๗-๑.๕ ซม. ลำอ่อนมีนวลสีขาวหนาแน่น ลำแก่สีเขียวอ่อน แตกกิ่งตลอดลำ ข้อล่าง ๆ มักเกลี้ยงหรืออาจพบรากอากาศบ้าง กิ่งมักไม่มีใบหรือมีน้อยและขนาดเล็กกว่าปรกติ มักมีเพียงกิ่งเดียวต่อข้อ กิ่งที่มีใบขนาดปรกติเริ่มจากประมาณกึ่งกลางลำขึ้นไป แต่ละข้อมีหลายกิ่ง โดยทั่วไปกิ่งกลางเด่น ๑ กิ่ง และมีกิ่งรองเด่น ๒ กิ่ง ที่เหลือมีขนาดไล่เลี่ยกัน กาบหุ้มสีส้มหรือสีเหลืองถึงสีน้ำตาลแกมส้ม กว้าง ๑๑-๒๔ ซม.


ยาว ๒๘-๔๕ ซม. ปลายมนตัดหรือเว้าเล็กน้อย มีขนสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำหรือบางครั้งค่อนข้างเกลี้ยง ใบยอดกาบพับลง สีม่วงแดงถึงสีเขียวอมม่วง รูปใบหอกถึงรูปแถบ กว้าง ๑-๖ ซม. ยาว ๑๐-๔๐ ซม. บริเวณโคนมีขนสีน้ำตาลทั่วไป ติ่งกาบเป็นพูเตี้ย ๆ พับไปมาหรือเป็นคลื่น มีขนแข็ง ลิ้นกาบเป็นแถบ ยาว ๐.๒-๑ ซม. ขอบจักไม่เป็นระเบียบ

 ใบเดี่ยว พบเฉพาะที่กิ่ง เรียงสลับ มี ๕-๗ ใบ ต่อกิ่ง รูปใบหอกหรือรูปแถบ กว้าง ๑-๑.๗ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนถึงแหลมหรือรูปลิ่ม แผ่นใบมีขนทั้ง ๒ ด้านโดยเฉพาะทางด้านล่าง ก้านใบเทียมยาว ๑-๒ มม. กาบใบหุ้มปล้องยาว ๒.๕-๖.๕ ซม. ติ่งใบรูปเคียว มีขนแข็งที่ขอบ ขนยาวประมาณ ๑ ซม. ลิ้นใบเป็นแถบ ยาว ๐.๕-๑ มม. ขอบหยักซี่ฟันถึงจักไม่เป็นระเบียบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกตามปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อแขนงออกเป็นกระจุก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒-๓ ซม. ประกอบด้วยช่อดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกย่อยแบบช่อดอกย่อยเทียม สีเขียวหรือสีเหลืองอมเขียว กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. มีกาบช่อย่อย ๑-๒ กาบ ยาว ๔.๕-๘.๕ มม. มีเส้นตามยาว ๘-๑๗ เส้น ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ ๒-๓ ดอก กาบล่างเนื้อบางคล้ายกระดาษ ยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ยาวได้ถึง ๒ มม. ด้านนอกมีขนหรือเกือบเกลี้ยง มีเส้นตามยาว ๑๓-๒๑ เส้น กาบบนเนื้อบางคล้ายกระดาษ กว้าง ๑.๔-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ขอบพับเป็นสันทั้ง ๒ ข้าง มีขนยาวที่สันและขอบ ระหว่างสันทั้ง ๒ ข้าง มีเส้นตามยาว ๓-๔ เส้น ปลายกาบแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก ด้านนอกมีขน ไม่มีกลีบเกล็ด เกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูสีเหลืองหรือสีม่วง ยาว ๓-๖ มม. ปลายอับเรณูเป็นติ่งหนาม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปลูกข่างปลายมีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยอดเกสรเพศเมียเกิดเดี่ยว ปลายมีขนยาวนุ่มเป็นพู่คล้ายขนนก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๕-๘ มม.

 ซางดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบในป่าผสมผลัดใบออกดอกและเป็นผลได้เพียงครั้งเดียวแล้วตาย มักมีการระบุชนิดผิดว่าเป็นไผ่ซาง [Dendrocalamus strictus (Roxb.) Nees] อยู่เสมอ ในต่างประเทศพบที่เอเชียใต้และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซางดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dendrocalamus membranaceus Munro
ชื่อสกุล
Dendrocalamus
คำระบุชนิด
membranaceus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Munro, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1818-1880)
ชื่ออื่น ๆ
ไผ่ซางนวล, ไผ่ซาง (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว