ซางคำชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ขึ้นเป็นกอแน่นหรือหลวม ๆ สูง ๑๐-๒๐ ม. เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ ลำตรง ปลายโค้งออกรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๑๐ ซม. ปล้องยาว ๒๐-๔๕ ซม. มีเนื้อหนา ๑-๒ ซม. ลำอ่อนมีนวลบาง ๆ สีขาว ลำแก่สีเหลืองและมีแถบสีเขียวคาดข้อล่าง ๆ ตามยาว บางครั้งมีรากอากาศ อาจพบวงขนสีเทาบริเวณใต้หรือเหนือรอยร่วงของกาบหุ้มลำแตกกิ่งแขนงค่อนข้างต่ำหรือตั้งแต่กลางลำขึ้นไป แต่ละข้อมีหลายกิ่ง โดยทั่วไปกิ่งกลางเด่น ๑ กิ่ง กาบหุ้มสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ขนาด ๒๐-๓๐ ซม. ปลายหยักโค้ง ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ใบ
ใบเดี่ยว พบเฉพาะที่กิ่ง เรียงสลับ มี ๘-๙ ใบ ต่อกิ่ง รูปแถบหรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนมน แผ่นใบค่อนข้างเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ติ่งใบรูปเคียว ลิ้นใบเป็นแถบเตี้ย ๆ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกตามปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อดอกย่อยมักเกิดเป็นกระจุก ช่อดอกย่อยแบบช่อดอกย่อยเทียมแบนข้าง สีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว รูปใบหอกแคบ กว้าง ๐.๔-๐.๕ ซม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. มีกาบช่อย่อย ๑-๒ กาบ รูปร่างคล้ายกาบล่างแต่ขนาดเล็กกว่า ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ มี ๕-๑๐ ดอก แกนช่อดอกย่อยยืด ยาวระหว่างดอกและหลุดเป็นท่อน ๆ ดอกย่อยปลายลดรูป กาบล่างเนื้อบางคล้ายกระดาษ ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม มีขนที่ปลายกาบ กาบบนเนื้อบางคล้ายกระดาษ สั้นกว่ากาบล่างเล็กน้อย ขอบพับเป็นสันทั้ง ๒ ข้าง มีขนที่สัน กลีบเกล็ด ๓ กลีบ ยาว ๒-๒.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูสีเหลือง ยาว ๕-๖ มม. ปลายอับเรณูเป็นติ่งหนามคล้ายแปรง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปลูกข่าง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ปลายมีขนยาวนุ่มเป็นพู่คล้ายขนนก
ซางคำชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามธรรมชาติ ออกดอกและเป็นผลได้เพียงครั้งเดียวแล้วตาย ลำที่มีสีเขียวเรียกกันทั่วไปว่า ไผ่กำยานหรือไผ่เขียว ส่วนลำสีเหลืองเกิดจากการคัดเลือกพันธุ์ที่ลำมีสีเหลืองสลับกับแถบสีเขียวมาปลูกเป็นไม้ประดับ โดยมีชื่อพันธุ์ปลูกว่า ‘Vittata (Bambusa vulgaris ‘Vittata ).