กะเพราช้าง

Ocimum gratissimum L.

ชื่ออื่น ๆ
กะเพราญวน (กรุงเทพฯ); จันทน์ขี้ไก่, เนียมต้น (แม่ฮ่องสอน); จันทน์หอม, เนียม (เชียงใหม่); ยี่หร่า, โห
ไม้พุ่ม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม สีเขียวอมแดง ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี มีขน กลิ่นหอมฉุน ช่อดอกแบบช่อฉัตรกลีบเลี้ยงสีเขียวปนม่วงแดง รูประฆัง กลีบดอกสีขาว รูปปากเปิด ผลแบบผลแห้งแตก

กะเพราช้างเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมสีเขียวอมแดง มีร่องตรงกลาง มีขนสีขาวทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยักมนหรือจักฟันเลื่อย มีขนตามเส้นใบ ก้านใบยาว ๓-๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อฉัตร ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ใบประดับมีขนาดเล็ก สีเขียวขอบสีแดง รูปไข่ ปลายเรียวแหลม กลีบเลี้ยงสีเขียวปนม่วงแดง มีขน โคนกลีบติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเป็นแฉกค่อนข้างกลม ส่วนล่างเป็นแฉกแหลม ๔-๖ แฉก กลีบดอกสีขาว รูปปากเปิด มีขนเล็ก ๆ สีขาว ด้านบนมี ๔ แฉก ปลายแฉกแหลม ด้านล่างมี ๑ แฉก ปลายม้วนพับลง ตรงกลางเว้าเป็นแอ่งตื้น ๆ เกสรเพศผู้ ๔ อัน สั้น ๒ อัน ยาว ๒ อัน โคนก้านชูอับเรณูมีขนรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ พู แต่ละพูมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก มี ๔ เมล็ด ค่อนข้างกลม ผิวไม่เรียบ

 กะเพราช้างมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน ใบมีกลิ่นฉุน ใช้ปรุงอาหารได้ ในอินเดียใช้เป็นพืชสมุนไพร น้ำมันจากใบกะเพราช้างมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และฆ่ายุงได้ ใช้หยอดหูแก้อาการปวดหู ใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ เป็นยาแก้ไอและขับเสมหะ น้ำจากใบแก้อาการปวดท้อง เมล็ดใช้แก้ปวดศีรษะปวดประสาท และแก้โรคบิด (Burkill, 1966; Zaheer ed., 1966)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะเพราช้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ocimum gratissimum L.
ชื่อสกุล
Ocimum
คำระบุชนิด
gratissimum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กะเพราญวน (กรุงเทพฯ); จันทน์ขี้ไก่, เนียมต้น (แม่ฮ่องสอน); จันทน์หอม, เนียม (เชียงใหม่); ยี่หร่า, โห
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา