ซางคำชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ ขึ้นเป็นกอแน่นหรือหลวม ๆ สูง ๑๕-๒๕ ม. เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ ลำตรง ปลายโค้ง รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๒๐ ซม. ปล้องยาว ๒๐-๖๐ ซม. มีเนื้อหนา ๐.๗-๑.๕ ซม. ลำอ่อนมีนวลสีขาว ลำแก่สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง ปล้องล่างมักเกลี้ยง ข้อล่าง ๆ มีรากอากาศ แตกกิ่งแขนงค่อนข้างต่ำหรือตั้งแต่กลางลำขึ้นไป แต่ละข้อมีหลายกิ่ง โดยทั่วไปกิ่งกลางเด่น ๑ กิ่ง แต่ขนาดไม่แตกต่างจากกิ่งอื่น ๆ มากนัก บางครั้งมีรากอากาศที่กิ่ง กาบหุ้มสีเหลืองอมเขียว กว้าง ๒๕-๖๐ ซม. ยาว ๑๕-๔๐ ซม. ปลายตัดหรือเว้าเล็กน้อย ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำหรือเกลี้ยง ใบยอดกาบกางออกถึงพับลงรูปไข่ถึงรูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. โคนด้านในมีขนประปราย ติ่งกาบขนาดเล็ก ยาว ๑-๒ มม. พับจีบต่อเนื่องจากใบยอดกาบ ขอบมีขนแข็ง ยาว ๐.๕-๓.๕ มม. หรือเกลี้ยง ลิ้นกาบเป็นแถบ ยาว ๑.๕-๓ มม. ขอบจักซี่ฟัน กาบหุ้มลำส่วนมากร่วงง่าย
ใบเดี่ยว พบเฉพาะที่กิ่ง เรียงสลับ มี ๕-๑๒ ใบต่อกิ่ง รูปขอบขนานหรือรูปแถบ กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนถึงรูปลิ่มหรือสอบเรียว ส่วนมากโคนมักเบี้ยว แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยง เส้นใบจากโคนใบมีจำนวนมาก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกตามปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ แกนช่อแขนงย่อยมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกย่อยแบบช่อดอกย่อยเทียมแบนด้านข้าง สีม่วงแดงหรือสีม่วงแดงอมน้ำตาลรูปไข่กว้าง กว้าง ๐.๕-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๗ ซม. มีกาบช่อย่อย ๒ กาบ ยาว ๓-๗ มม. มีเส้นตามยาว ๑๓-๒๕ เส้น ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ ๖-๘ ดอก กาบล่างเนื้อบางคล้ายกระดาษ ยาว ๐.๙-๑.๔ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีเส้นตามยาว ๒๓-๒๙ เส้น โคนกาบและขอบเป็นเยื่อบางและหยักเป็นคลื่นกาบบนเนื้อบางคล้ายกระดาษ กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบพับเป็นสันทั้ง ๒ ข้าง มีขนยาวที่สันและขอบ ระหว่างสันทั้ง ๒ ข้างมีเส้นตามยาว ๒-๓ เส้น ปลายกาบแหลม มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีกลีบเกล็ด เกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูสีเหลือง ยาว ๕-๗ มม. ปลายอับเรณูเป็นติ่งหนาม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปลูกข่าง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ปลายมีหนามคล้ายแปรง ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๐.๖-๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่คล้ายขนนก
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. มีขนที่ปลาย
ซางคำชนิดนี่เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในไต้หวัน นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเพื่อผลิตหน่อและลำ ออกดอกและเป็นผลได้เพียงครั้งเดียวแล้วตาย.