ซ่างเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๔๐ ม. เส้นรอบวง ๐.๗-๔ ม. เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดไม่เป็นระเบียบ หนาประมาณ ๒ ซม. ห้อยย้อยลง เปลือกในเป็นเส้นใยสีน้ำตาลแดง ปลายกิ่งเรือนยอดลู่ลงกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนหยาบแข็งสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๑-๘ ซม. ยาว ๕-๓๐ ซม. แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่น ปลายแหลม มนหรือมนกว้าง โคนรูปลิ่ม มน หรือเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบหรืออาจเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นกลางใบเป็นสันนูนทางด้านล่าง แบน หรือเป็นร่องเล็กทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๓๐ เส้น ปลายเส้นโค้งใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่างตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบอาจเกลี้ยงหรือมีขนนุ่มทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นหนาแน่น และใกล้โคนใบมักมีต่อมมีก้าน ๑ คู่ สีชมพูเรื่อ
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๗-๑๒ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โคนก้านดอกแต่ละดอกมีใบประดับย่อยรูปรีแกมรูปใบหอก ยาว ๑-๒ มม. มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีขาวแกมเขียวหรือสีเขียวแกมเหลืองอ่อนด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนหยาบแข็ง ไม่มีกลีบดอกเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาว ๑-๑.๕ มม. อับเรณูสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองแกมเขียวอ่อน ติดแบบไหวได้ จานฐานดอกคล้ายรูปวงแหวน มีขนอุยหนาแน่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงค่อนข้างรี กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. ด้านข้างมีครีบหรือปีก ๒ ปีก ตามยาว ปีกกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๖ มม. เมล็ดรูปกระสวย โค้งเรียว ยาวประมาณ ๐.๕ มม.
ซ่างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๔๕๐ - ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย.