กะเพราเป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขา สูง ๓๐-๖๐ ซม. โคนลำต้นค่อนข้างแข็ง ตามลำต้นมีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบบาง มีขน
ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ยอดและปลายกิ่ง ยาว ๘-๑๐ ซม. ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ ออกเป็นวงรอบแกนช่อเป็นชั้น ๆ สีขาวหรือขาวปนม่วงแดง ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. และกางออกเกือบตั้งฉากกับแกนช่อ กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปคล้ายระฆัง ปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนมีแฉกเดียวค่อนข้างกลม ส่วนล่างแยกเป็น ๔ แฉก ปลายแหลมเรียวด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนตามโคนกลีบ กลีบดอกรูปปากเปิดด้านบนมี ๔ แฉก ปลายแฉกมน ขนาดใกล้เคียงกัน ด้านล่างมี ๑ แฉก ขนาดยาวกว่าด้านบน ตรงกลางแฉกเว้าตื้น ๆ ปลายแฉกม้วนพับลง มีขนละเอียดประปราย เกสรเพศผู้มี ๔ อัน สั้น ๒ อัน ยาว ๒ อัน อับเรณูสีเหลืองสด โคนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่เป็น 4 พู แต่ละพูมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาลมีจุดสีเข้มเมื่อนำไปแช่น้ำเปลือกหุ้มเมล็ดจะพองออกเป็นเมือก
กะเพรามี ๒ พันธุ์ คือ กะเพราขาว มีลำต้นและใบเขียว กลีบดอกสีขาว และ กะเพราแดง มีลำต้นและใบสีม่วงแดงดอกสีขาวหรือขาวปนม่วงแดง ต้นและใบใหญ่กว่ากะเพราขาว เล็กน้อย ทุกส่วนเมื่อขยี้มักมีกลิ่นหอมฉุน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและปักชำ
กะเพราเป็นพรรณไม้พื้นเมืองในแถบเอเชียเขตร้อน มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน ขึ้นทั่วไปในที่โล่งแจ้งในประเทศไทยนิยมปลูกเป็นพืชสวนครัว ใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง ใส่ในอาหารเพื่อแต่งกลิ่นอาหาร และใส่ในแกงเนื้อและปลาเพื่อดับกลิ่นคาว เป็นพืชสมุนไพร คนไทยสมัยก่อนนิยมกินแกงเลียงใบกะเพราหลังคลอดบุตรเพื่อขับลมและบำรุงธาตุให้เป็นปรกติ ในชวาใช้ใบปรุงเป็นอาหารเพื่อขับน้ำนม (พยอม ตันติวัฒน์, ๒๕๒๑) ในอินเดียนิยมปลูกกะเพราไว้ตามโบสถ์ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู น้ำคั้นจากใบกินขับเหงื่อแก้ไข้ ขับเสมหะ ทาที่ผิวหนังแก้กลากและโรคผิวหนังอื่น ๆ (พยอม ตันติวัฒน์, ๒๕๒๑) ใช้หยอดหูแก้อาหารปวดหู ใช้เป็นยาบำรุงธาตุและขับลมในเด็กอ่อน เมล็ดกินเป็นยาทำให้เยื่อชุ่มชื้น (พยอม ตันติวัฒน์, ๒๕๒๑; Zaheer ed., 1966) ในมาเลเซียใช้น้ำจากใบเป็นยาทาแก้โรคปวดข้อ (Burkill, 1966)
ใบกะเพรามีแคโรทีนและกรดแอสคอร์บิกให้น้ำมันระเหยง่ายสีเหลืองสด กลิ่นคล้ายกานพลู น้ำมันมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงได้ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) และเชื่อ Micrococcus pyogenes Lehm. & Neum. var. aureus Huck. ได้ในหลอดทดลอง สามารถฆ่าแมลงและไล่ยุงได้ เมล็ดให้น้ำมันระเหยยากสีเหลืองอมเขียว ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมัน ได้แก่ palmitic acid, Stearic acid, oleic acid, linoleic acid และ linolenic acid เมล็ดมีเมือกซึ่งเมื่อสลายตัวให้ xylose และ glucuronic acid (พยอม ตันติวัฒน์, Zaheer ed., 1966) นอกจากนั้น ทั้งต้นยังมีสารประกอบพวกแอลคาลอยด์ ไกลโคไซด์ แทนนิน และ saponin (Zaheer ed., 1966).