ซางเป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ ขึ้นเป็นกอแน่น สูง ๗-๑๕ ม. เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ ลำตรง ปลายโค้งออก รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ ซม. ปล้องยาว ๒๕-๔๕ ซม. มีเนื้อแข็งและหนา พบบ่อยที่ตัน ลำอ่อนมีนวลสีขาว ลำแก่สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเทา ปล้องล่างเกลี้ยงข้อป่องเล็กน้อย ข้อล่าง ๆ มักมีรากอากาศ แตกกิ่งแขนงเกือบตลอดลำ แต่ละข้อมีหลายกิ่ง โดยทั่วไปกิ่งกลางเด่น ๑ กิ่ง และกิ่งรองเด่น ๒ กิ่ง ที่เหลือมีขนาดไล่เลี่ยกัน บางครั้งมีรากอากาศที่กิ่ง กาบหุ้มสีเขียวอมเหลือง กว้าง ๑๓-๑๘ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายตัดหรือเว้าเล็กน้อย มีขนตั้งตรงสีน้ำตาลทองถึงสีน้ำตาลเข้มโดยเฉพาะด้านล่างของกาบ หรือเกือบเกลี้ยง ใบยอดกาบตั้งขึ้นถึงกางออก รูปสามเหลี่ยมถึงรูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. โคนด้านในมีขนประปราย ติ่งกาบไม่พัฒนาหรือปรากฏเป็นเพียงพูเล็ก ๆ ไม่เด่นชัด ขอบมีขนแข็งหรือเกลี้ยง ลิ้นกาบเป็นแถบ ยาว ๑-๒ มม. ขอบจักไม่เป็นระเบียบหรือเกือบเรียบ มีกาบหุ้มลำเกือบตลอดต้น ติดค่อนข้างทนโดยเฉพาะกาบที่ข้อล่าง ๆ ของลำ
ใบเดี่ยว พบเฉพาะที่กิ่ง เรียงสลับ มี ๓-๑๐ ใบ ต่อกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปใบหอก หรือรูปแถบกว้าง ๐.๕-๓ ซม. ยาว ๔-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนถึงรูปลิ่ม แผ่นใบมีขนทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านล่าง ก้านใบเทียมยาว ๒-๔ มม. กาบใบหุ้ม ปล้องยาว ๒.๕-๘ ซม. ปลายมักหยักเป็นไหล่แคบ ๆ และมีขนแข็งที่ขอบ ขนยาว ๑-๕ มม. ไม่มีติ่งใบ ลิ้นใบเป็นแถบ ยาว ๐.๕-๐.๗ มม. ขอบจักไม่เป็นระเบียบหรือเกือบเรียบ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกตามปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อแขนงออก
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ขนาด ๖-๘ มม. มีขนที่ปลาย
ซางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตก พบตามป่าผสมผลัดใบที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลได้เพียงครั้งเดียวแล้วตาย ในต่างประเทศพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประโยชน์ ลำใช้ทำเครื่องเรือน เนื่องจากลำค่อนข้างตรงไม่คดงอและมีขนาดไม่ใหญ่มาก ลำที่ตันมีความคงทน หน่อกินได้.