กะพ้อ

Licuala spinosa Thunb.

ชื่ออื่น ๆ
กะพ้อเขียว, กะพ้อหนาม (กลาง); พ้อ (ใต้)
ปาล์มลำต้นเตี้ยถึงขนาดกลาง แตกหน่อเป็นกอแน่น มีรอยกาบใบที่หล่นไป ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปลิ่มใบย่อยรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ผลรูปกระสวย แก่จัดสีแสดอมแดง

กะพ้อชนิดนี้ลำต้นเตี้ยถึงขนาดกลาง สูง ๓-๔ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๑๐ ซม. ลำต้นแตกหน่อเป็นกอแน่น มีรอยกาบใบที่หล่นไป

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปลิ่ม กว้างและยาวประมาณ ๑ ม. ก้านใบยาว ๐.๘-๑ ม. ก้านใบและกาบใบมีหนามเล็ก ๆ ห่าง ๆ ใบประกอบด้วยกลุ่มใบย่อย ๑๕-๒๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีใบย่อยติดกัน ๒-๓ ใบ ใบย่อยรูปแถบ กว้าง ๕-๖ ซม. ยาวประมาณ ๕๕ ซม. โคนสอบ ปลายตัด บางใบ เว้าเป็นหางปลา ใบย่อยไม่มีก้าน ออกเป็นกลุ่มชิดกันที่ปลายก้านใบ ใบย่อยกลางเป็นแฉกลึก ๓ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ห้อยลง ยาวประมาณ ๒ ม. แยกแขนงเป็น ๓-๔ ช่อ ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ออกเป็นระยะห่าง ๆ กัน ๑๕-๒๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๐ ซม. มีกาบเป็นหลอดยาว ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ๒-๓ ดอก ก้านดอกสั้นมาก ใบประดับรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ปลายตัด สั้นมาก กลีบดอกยาวกว่ากลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๖ อัน เกสรเพศเมียเล็กมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑-๓ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลรูปกระสวย แก่จัดสีแสดอมแดง ยาวประมาณ ๑ ซม. เนื้อบาง เมล็ดกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม.

 กะพ้อชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าในที่น้ำขัง จนถึงริมทะเล ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะพ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Licuala spinosa Thunb.
ชื่อสกุล
Licuala
คำระบุชนิด
spinosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
ชื่ออื่น ๆ
กะพ้อเขียว, กะพ้อหนาม (กลาง); พ้อ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์