ต้อยติ่งนาชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี ทุกส่วนมีกลิ่นหอม ลำต้นตั้งตรงหรือทอดชูยอด สูงได้ถึง ๔๐ ซม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนหยาบแข็งและขนต่อมหนาแน่น ข้อโป่งพอง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือกลม ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นสีขาวและขนต่อมหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบด้านบนนูนเล็กน้อย ด้านล่างนูนชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ใบประดับขนาดเล็ก รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายแหลม ขอบหยักมนถี่ มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน มีขนสั้นสีขาวและขนต่อมหนาแน่น กลีบเลี้ยงยาว ๗-๙ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน ปลายแหลม ด้านนอกมีต่อมและขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกรูปปากเปิด สีม่วง ยาว ๑.๓-๑.๘ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด โป่งออกด้านบน ยาวประมาณ ๙ มม. ปลายแยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก รูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๘-๙ มม. ปลายเว้าตื้น ขอบเรียบ ม้วนออกด้านนอก ซีกล่างมี ๓ แฉก รูปขอบขนาน มีขนาดใหญ่กว่าซีกบน ปลายมนโค้งพับลง มีเส้นแยกแขนงสีม่วงด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในมีขนยาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน คู่ยาวยาวประมาณ ๕ มม. คู่สั้นยาวประมาณ ๒ มม. ติดที่บริเวณโคนหลอดกลีบดอก ยาวไม่พ้นหลอดดอก อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปรี แต่ละอับเรณูมี ๒ พู ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรีมีขนประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๑.๖ ซม. มีขนหยาบแข็ง ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉกสั้น ๆ
ผลแบบผลแห้งแตก ๒ ซีก รูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ยาวประมาณ ๘ มม. เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงกลมค่อนข้างแบน มีได้ถึง ๔๐ เมล็ด
ต้อยติ่งนาชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคกลาง ขึ้นตามที่เปิดโล่ง ตามทุ่งนา หรือทุ่งหญ้า ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่จีนและเมียนมา.