งุ้นผึ้งดำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กิ่งแก่มีรอยแผลใบขนาดใหญ่
ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงเกือบตรงข้ามใกล้ปลายกิ่ง รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๔-๑๒ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม พบบ้างที่มนหรือกลม โคนรูปลิ่มกว้างหรือกลม มักเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปรายถึงหนาแน่น ตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขนหนาแน่นกว่า ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๔ ซม. เป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง คล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๘ ซม. ก้านช่อดอกแบนหรือเป็นเหลี่ยม ยาว ๒-๘ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ดอกเล็ก สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีจำนวนมาก ก้านดอกยาวไม่เกิน ๑ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก ปลายแหลม ด้านนอกมีขนประปรายกลีบดอกยาว ๔-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในมีขนอุยหรือเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูอวบน้ำ โคนแบน อับเรณูรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน จานฐานดอกรูปถ้วย มี ๕ พู ตื้น ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างหนา ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู เห็นไม่ชัดเจน
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปทรงรี กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. สุกสีม่วงดำ ผิวขรุขระ มีขนประปราย มี ๑ เมล็ด เอนโดสเปิร์มมีกลิ่นเหม็น
งุ้นผึ้งดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบชื้นหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา ภูมิภาคมาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่นตอนใต้.