ขางน้ำผึ้ง

Claoxylon indicum (Reinw. ex Blume) Hassk.

ชื่ออื่น ๆ
ขะกะอ้าย, ผักหวานช้างโขลง, หูควาย (ใต้); ข้างน้ำผึ้ง, งุ้นผึ้งขาว, ฉับแป้ง (เหนือ); ผักหวานใบใหญ่ (ต
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมีขนอุย ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี ปลายก้านใบด้านบนมีต่อม ๒ ต่อม ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจะออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้สีเขียวถึงสีขาว ดอกเพศเมียสีเขียวอ่อน ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตกกลางพูมี ๓ พู สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมฟ้า เมล็ดรูปทรงกลมมีเนื้อหุ้มสีแดง

ขางน้ำผึ้งเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๘ ม. กิ่งอ่อนมีขนอุย เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๗-๑๕ ซม. ยาว ๑๓-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลมเป็นติ่ง โคนเว้าตื้นหรือสอบเรียว ขอบจักซี่ฟัน ที่ปลายซี่ฟันมีต่อมขนาดเล็ก แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวสาก ด้านบนมีขนอุยน้อยกว่าด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ก้านใบยาวได้ถึง ๘ ซม. มีต่อม ๒ ต่อมที่ปลายก้านด้านบน หูใบเล็กรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสมมาตรตามแนวรัศมี กลีบเลี้ยง ๓-๕ กลีบ ด้านในมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ไม่มีกลีบดอกช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๓๓ ซม. แต่ละช่อย่อยมีดอกเป็นกลุ่มได้ถึง ๘ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. ใบประดับรูปไข่กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ดอกเพศผู้สีเขียวถึงสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๑.๒-๑.๓ มม. ยาว ๒.๓-๒.๕ มม. จานฐานดอกจักเป็นพู สูงประมาณ ๐.๔ มม. เกสรเพศผู้มีประมาณ ๒๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๔-๑.๕ มม. อับเรณูมี ๒ เซลล์ แยกจากกัน ยาว ๐.๔-๐.๕ มม. ที่โคนเชื่อมติดกับแกนอับเรณู ช่อดอกเพศเมียยาวได้ถึง ๗.๕ ซม. แต่ละช่อย่อยมี ๑ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๓.๘ มม. ใบประดับรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑.๔ มม. ดอกสีเขียวอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๗ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๐.๙-๒ มม. ยาว ๑.๓-๑.๘ มม. จานฐานดอกแบน มี ๕ พู เล็กกว่ากลีบเลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๒.๗ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน เรียว ยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๑ มม. ไม่แยกเป็นแฉก

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู มี ๓ พู กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๘-๙.๕ มม. สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมฟ้ามีขนสั้นสีขาวหนานุ่ม แกนผลเล็กเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. เมล็ดรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๓.๘ มม. มีเนื้อหุ้มสีแดง

 ขางน้ำผึ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าดิบ ป่าดิบเขาที่ถูกทำลาย ที่โล่งข้างทาง เขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐-๑,๖๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางน้ำผึ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Claoxylon indicum (Reinw. ex Blume) Hassk.
ชื่อสกุล
Claoxylon
คำระบุชนิด
indicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reinwardt, Caspar Georg Carl
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Hasskarl, Justus Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Reinwardt, Caspar Georg Carl (1773-1854)
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Hasskarl, Justus Carl (1811-1894)
ชื่ออื่น ๆ
ขะกะอ้าย, ผักหวานช้างโขลง, หูควาย (ใต้); ข้างน้ำผึ้ง, งุ้นผึ้งขาว, ฉับแป้ง (เหนือ); ผักหวานใบใหญ่ (ต
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต