กระเจี๊ยบแดงเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑-๒ ม. ลำต้นอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีม่วงแดง ผิวค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบของต้นที่ยังเล็กและใบที่อยู่ใกล้ดอก บางใบมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่ และมีขนาดเล็กกว่าใบโดยทั่วไปซึ่งมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่กลับและมีขอบใบหยักเว้าลึก ๓-๕ หยัก แต่ละหยักกว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายหยักแหลม โคนมน เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น แผ่นใบด้านล่างมีเส้นใบนูนเด่นชัด โคนเส้นกลางใบมีต่อม ๑ ต่อม ก้านใบยาว ๔-๑๕ ซม. หูใบเป็นเส้นเรียว ยาว ๑.๘-๑.๕ ซม.
ดอกใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง ออกเดี่ยวตามง่ามใบ มีขน ริ้วประดับเรียวแคบ สีแดง มี ๘-๑๒ เส้น ยาวประมาณ ๑ ซม. อยู่เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแหลม ๕ แฉก ยาว ๑-๒ ซม. แต่ละแฉกมีเส้นกลีบ ๓ เส้น โคนเส้น กลางกลีบมีต่อม ๑ ต่อม กลีบดอกใหญ่ สีเหลือง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. โคนกลีบสีแดงเข้มเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๓ ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย อับเรณูสีนวล ขนาดเล็ก มีจำนวนมากอยู่รอบหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง เป็นตุ่มเล็กและมีขน
ผลสีแดง รูปไข่ป้อม ไม่เป็นฝักยาวอย่างกระเจี๊ยบ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่ ยาว ๒-๕ ซม. รองรับอยู่จนผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต ขนาด ๔-๖ มม.
กระเจี๊ยบแดงเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา นำ เข้ามาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว ปลูกได้ทั่วทุกภาค ในต่างประเทศปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนทั่วโลก
ใบอ่อนและยอดมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ใช้ต้มหรือแกง ริ้วประดับและกลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว มีคุณค่าทางอาหาร ใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น ชา น้ำผลไม้ ไวน์ ตลอดจนใช้ทำอาหารหวานบางจำพวก เช่น แยม เมล็ดมีน้ำมันมาก เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระสอบ (Thacker ed., 1959) ในไต้หวันใช้เมล็ดเป็นยาแผนโบราณเพื่อเป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ และยาบำรุง (Perry and Metzger, 1980).