ซาก

Erythrophleum teysmannii (Kurz) Craib

ชื่ออื่น ๆ
คราก, หยีแดง (ใต้); ตร๊ะ (ส่วย-สุรินทร์); พันซาด (กลาง, ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นสะเก็ด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียนใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียงตรงข้าม มีช่อแขนงใบ ๔-๘ ช่อ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๑๐-๑๖ ใบ เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปใบหอก เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน เมล็ดทรงรูปไข่กลับ มี ๓-๘ เมล็ด

ซากเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นสะเก็ด

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ยาว ๑๐.๕-๓๕ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียง ตรงข้าม มีช่อแขนงใบ ๔-๘ ช่อ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๑๐-๑๖ ใบ เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๕.๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายใบทู่หรือหยักเว้าตื้น ๆ โคนสอบหรือมนกลม เบี้ยวขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบประกอบชั้นที่ ๑ ยาว ๔.๕-๑๐.๕ ซม. แกนใบประกอบชั้นที่ ๑ ยาว ๖-๒๕ ซม. ก้านใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๑-๔ ซม. แกนใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๙-๒๐ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ มม. หูใบขนาดเล็กมาก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ช่อ แต่ละช่อกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๑๗-๒๐ ซม. มีขนทั่วไป ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อน ฐานดอกรูประฆังแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนประปราย ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปรีแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปแถบหรือรูปช้อน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน ขอบมีขนครุยมีเส้นกลางกลีบตามยาว ๑ เส้น เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกจากกันเป็นอิสระ ยาว ๓-๕ มม. ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูติดที่ด้านหลัง มีขอบสีน้ำตาล ก้านรังไข่ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียตอนปลายเกลี้ยง ตอนโคนมีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียเป็นจุด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๘-๔ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลมขอบหนา ผิวเกลี้ยง บริเวณที่มีเมล็ดมีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน เมล็ดทรงรูปไข่กลับ เรียงตามขวางของฝัก มี ๓-๘ เมล็ด

 ซากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเสา ทำพื้น เกวียน ใช้เผาถ่านให้ถ่านคุณภาพดี ใบและเมล็ดเป็นพิษ เมื่อรับประทานทำให้เกิดอาการมึนเมาและอาเจียน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซาก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Erythrophleum teysmannii (Kurz) Craib
ชื่อสกุล
Erythrophleum
คำระบุชนิด
teysmannii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz (1834-1878)
- Craib, William Grant (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
คราก, หยีแดง (ใต้); ตร๊ะ (ส่วย-สุรินทร์); พันซาด (กลาง, ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา