กะพ้อ

Licuala paludosa Griff.

ชื่ออื่น ๆ
กะพ้อแดง, ขวน, พ้อพรุ (นราธิวาส)
ปาล์มลำต้นเตี้ย แตกกอแน่น ใบประกอบแบบนิ้วมือเรียงเวียน มี ๖-๙ กลุ่ม ใบย่อยรูปลิ่ม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ดอกสีนวล ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลม แก่จัดสีส้ม

กะพ้อชนิดนี้ลำต้นเตี้ย สูง ๑-๓ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๒๐ ซม. ลำต้นแตกหน่อเป็นกอ ผิวเรียบ สีน้ำตาล

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน รูปกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ ม. ก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๕๐-๖๐ ซม. ขอบทั้ง ๒ ข้าง มีหนามแหลมสีดำ ยาวและโค้ง ใบประกอบด้วยกลุ่ม ใบย่อย ๖-๙ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีใบย่อย ๓-๔ ใบ ใบย่อยไม่มีก้าน ออกเป็นกลุ่มชิดกันที่ปลายก้านใบ รูปแถบ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาวประมาณ ๕๕ ซม. ปลายเบี้ยวและเว้าเป็นหางปลา โคนสอบ โคนก้านใบมีเส้นใยประสานกันหุ้มหนาแน่น กาบใบเล็กเป็นหลอดสีเขียว

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น แยกแขนงเป็นช่อเชิงลด ๕-๗ ช่อ ห้อยลง แต่ละช่อยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกไม่มีก้านกลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ขนาดประมาณ ๓ มม. เมื่อดอกเจริญขึ้นกลีบเลี้ยงจะฉีกออกทางด้านข้าง กลีบดอกเป็นรูปคนโทขนาดประมาณ ๔ มม. โคนติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดกันเป็นวงรอบกลีบดอก เกสรเพศเมียเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑-๓ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ตอนบนตัดแบน

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๖ มม. แก่จัดสีส้ม เนื้อบาง เมล็ดกลม ขนาดเล็กมาก

 กะพ้อชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าหรือริมทะเล ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะพ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Licuala paludosa Griff.
ชื่อสกุล
Licuala
คำระบุชนิด
paludosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1810-1845)
ชื่ออื่น ๆ
กะพ้อแดง, ขวน, พ้อพรุ (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์