ซ่าเป็นไม้พุ่ม กิ่งเรียวเล็ก
ใบเดี่ยว เรียงเวียน มักเรียงเวียนถี่ตามกิ่งอ่อน รูปรี รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบแคบ ขอบที่ค่อนไปทางปลายใบหยักซี่ฟันแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนประปราย ด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นได้ทั้ง ๒ ด้าน แต่ด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน ก้านใบยาว ๒-๘ มม.
ช่อดอกแบบช่องวงสลับข้าง ออกตามซอกใบ เป็นช่อเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ช่อสั้นและโปร่ง แกนกลางคดไปมา มักมีดอกน้อย พบตั้งแต่ ๒-๑๐ ดอก สีขาวหรือสีนวล ก้านดอกยาว ๕-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ ๑ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขน ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแหลมกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายมนเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว โผล่พ้นหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบเกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกลึกจนเกือบถึงโคนก้านเป็น ๒ แฉก แต่ละแฉกเรียวเล็กคล้ายเส้นด้าย ยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดรูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม มี ๔ เมล็ด
ซ่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดียและภูมิภาคอินโดจีน.