ซัวเอี๊ยะเป็นไม้เลื้อยหลายปี มีหัวใต้ดิน ลักษณะคล้ายราก ยาวได้ถึง ๑ ม. ลำต้นเหนือดินรูปทรงกระบอก เรียว เลื้อยพันเวียนจากซ้ายไปขวา
ใบเดี่ยว ส่วนใหญ่เรียงตรงข้าม อาจพบเรียงสลับตามข้อที่อยู่ด้านบน หรืออาจพบบ้างที่เรียงเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปรีรูปไข่ หรือรูปกลม กว้าง ๒.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือกลมมน ขอบหนาและแข็ง โค้งพับลงเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือมีขนสั้นเล็กน้อย เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เห็นชัดเจน ก้านใบยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. อวบหนา
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลดออกเป็นวงรอบตามซอกใบ หรือเป็นช่อแยกแขนงออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๔.๕ ซม. ช่อดอกเพศผู้มักมีดอกหนาแน่น ดอกเพศผู้ขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒-๔.๗ มม. ไม่มีก้าน มีกลิ่นหอมคล้ายอบเชย กลีบรวม ๖ กลีบ สีขาวหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน รูปไข่กลับแกมรูปกลม เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ เกสรเพศผู้ ๖ เกสร เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ เกสร มักติดอยู่ที่โคนกลีบรวม ก้านชูอับเรณูค่อนข้างยาว อับเรณูขนาดใหญ่ มีเกสรเพศเมียเป็นหมันขนาดเล็ก ช่อดอกเพศเมียมีดอกห่าง ๆ มักไม่แตกแขนง ดอกเพศเมียมีขนาดใกล้เคียงกับดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓ หรือ ๖ เกสร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ ซม. มี ๓ พู เปลือกผลหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงมักมีกลีบรวมติดทนที่ปลาย เมล็ดสีน้ำตาล มี ๖ เมล็ด รูปเลนส์ถึงรูปไข่แกมรูปเลนส์ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓ ซม. มีปีกกว้างโดยรอบ ปีกรูปไข่ถึงรูปกลม บางใส สีน้ำตาล
ซัวเอี๊ยะเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นของเอเชียตะวันออกและอินเดีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย
ประโยชน์ หัวใต้ดินและหัวย่อยมีแป้งมากกินได้ และเป็นพืชสมุนไพรจีน.