ซังแกเถาเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ยาวได้ถึง ๑๒ ม. ลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาวมีขนสั้นและเกล็ดสีน้ำตาลหนาแน่น และทยอยหลุดร่วงไปจนเกือบเกลี้ยง เปลือกเรียบ สีน้ำตาล เนื้อไม้สีขาวหรือสีขาวแกมเหลือง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรี แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๕-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม โคนมนหรือรูปลิ่มกว้างขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นกลางใบนูนและเห็นชัดทางด้านล่าง และค่อนข้างแบนทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เส้นโค้งอ่อน มักเชื่อมกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบมีขนประปรายทางด้านล่าง เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันไดพอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. เป็นร่องทางด้านบน และมีขนสั้นนุ่ม
ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่มหรือช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ทั้งช่อยาวประมาณ ๓ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นและเกล็ดสีเทา โคนดอกแต่ละดอก มีใบประดับย่อยรูปรีแกมรูปใบหอก ยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายหลอดกว้างแล้วแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๔ แฉก แฉกกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ด้านนอกมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงทั่วไป กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวแกมเขียวอ่อน มี ๔ กลีบ รูปคล้ายช้อน กลีบกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๕-๓ มม. ติดเรียงสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง ผิวเกลี้ยง ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ยาว ๔-๕ มม. ก้านชูอับเรณูสีเขียว โคนติดอยู่กับผิวหลอดกลีบเลี้ยงด้านในใกล้จานฐานดอก อับเรณูสีเหลืองอ่อน ติดแบบไหวได้จานฐานดอกคล้ายรูปวงแหวน มีขนอุยหนาแน่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรี เป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาว ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๒ เม็ด พบน้อยที่มี ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๗-๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงรีหรือรูปกระสวย กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๒-๓ ซม. มีครีบหรือปีกตามยาวผล ๔ ปีก แต่ละปีกกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. สันเป็นคลื่นไม่เป็นระเบียบ เมื่อแห้งสีน้ำตาลแดงเป็นมัน เมล็ดรูปกระสวย กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๒-๓ ซม. โคนและปลายเรียวแหลม
ซังแกเถามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๖๕๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่จีนภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.