กะเบื้อขาวเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑ ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยมหรือค่อนข้างกลม มักกลวง เปลือกเรียบ สีน้ำตาล มีขนกางสั้น ๆ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๘.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย มีขนยาว แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนมีขนยาวสีขาวกระจาย ด้านล่างมีขนหนาแน่นบริเวณเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๘ ซม. ก้านคู่ตรงข้ามมักยาวไม่เท่ากันด้านบนเป็นร่องตื้น โคนและปลายก้านใบมักคอดอย่างเด่นชัดเมื่อแห้ง มีขนกางสั้น ๆ หนาแน่น ใบประดับคล้ายใบแต่เล็กกว่า ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๑-๒ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อตั้ง ก้านช่อดอก ยาว ๔-๑๐ ซม. ก้านช่อย่อยยาว ๒-๓ ซม. ทั้งก้านช่อดอกและก้านช่อดอกย่อยมีขนตั้งสั้นหนาแน่น ดอกสีขาวหรือขาวปนม่วง ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนตั้งสั้น ๆ กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว ๐.๕-๑ ซม. โคนติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ขนาดเท่า ๆ กัน ปลายแหลม มีเส้นตามยาว ๕ เส้น เห็นชัด ๓ เส้น ขนมทั้งขนธรรมดาและขนต่อม ความยาวแฉกประมาณ ๓ เท่าของความยาวหลอด กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๑.๘-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ขนาดเกือบเท่ากัน ปลายมน ด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ยื่นพ้นปากหลอดดอก อับเรณูรูปขอบขนาน แตกตามยาว ก้านชูอับเรณูติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๔ ช่อง ไม่สมบูรณ์ แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ ซม. ปลายเป็น ๔ พู ผิวเกลี้ยงเป็นมันผลสุกสีม่วงแดงหรือดำ กลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดรูปรี ยาว ๕-๘ มม.
กะเบื้อขาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาค เว้นภาคใต้ พบตามที่โล่งในทุกสภาพป่าที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๘๕๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนธันวาคมถึงมกราคม.