ไคร้หางนาคชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม เปลือกสีเทา ยอดและกิ่งอ่อนมีขน ร่วงเมื่อแก่ ตามกิ่งมักมีแขนงขนาดเล็ก
ใบเดี่ยว เรียงเวียน ตามแขนงเล็กมักเรียงเวียนถี่คล้ายเป็นกระจุก รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๘ มม. ยาว ๐.๕-๓ ซม. ปลายมนมีติ่งแหลม หรือแหลม โคนมนหรือสอบแหลม ขอบเรียบและมีขน แผ่นใบหนา ด้านล่างมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๓ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีใบประดับเล็กมาก ๒ ใบ ก้านดอก ยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายถ้วยตื้น ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายแหลม ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขน กลีบดอกสีชมพูหรือสีชมพูอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับหรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๗ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูติดในหลอด กลีบดอก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. อับเรณูแตกตามยาวรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวได้ถึง ๓.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม มีพูตื้น ๔ พู กว้างประมาณ ๔ มม. สุกสีแดงอมนํ้าตาล เมล็ดมี ๔ เมล็ด ขนาดเล็ก รูปไข่แกมรูปขอบขนานมีเกราะแข็ง
ไคร้หางนาคชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามริมฝั่งแม่น้ำ ลำธาร ตลอดจนตามเนินดินหรือริมเกาะแก่งในแหล่งน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.