กะทือแดงเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า มีใบ ๑-๔ ใบ กาบใบซ้อนกัน และมีกาบใบที่ไม่มีแผ่นใบ ๒-๓ กาบหุ้มกาบใบเหล่านั้นอีกด้วย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๑๒-๒๓ ซม. สองข้างของแผ่นใบขนาดไม่เท่ากัน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนประปราย ก้านใบยาว ๒.๕-๖ ซม. อาจยาวได้ถึง ๙ ซม. ระหว่างรอยต่อของก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๔ มม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาว ๑๑-๒๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๔ ซม. มีใบประดับสีเขียวอ่อนประแดง ยาวประมาณ ๒ ซม. และใบประดับย่อยบางใสอยู่ด้านในของใบประดับ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เรียงซ้อนสลับตลอดช่อ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ๔-๕ มม. ปลายหยักเล็กน้อย ๓ หยัก กลีบดอกติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายมน กว้าง ๓-๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน แต่ ๕ อัน ได้เปลี่ยนไปเป็นเกสรเพศผู้เป็นหมันลักษณะคล้ายกลีบดอก รูปรี สีขาว ๒ กลีบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. อีก ๓ กลีบติดกันเป็นแผ่นเดียว สีขาว รูปไข่ เป็นกระพุ้งลึก เรียกว่า กลีบปาก กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีขนสีน้ำตาล เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี ๑ อัน อับเรณูยาวพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่รูปรี ยาวประมาณ ๓ มม.
กะทือแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นใกล้ลำธารในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียและมาเลเซีย.