ซ้อแมว

Premna coriacea C. B. Clarke var. villosa (C. B. Clarke) A. Rajendran et P. Daniel

ชื่ออื่น ๆ
หมีเหม็น (นครราชสีมา)
ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่น มีช่องอากาศกระจายทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปหัวใจ รูปหัวใจ รูปรีกว้าง รูปไข่แกมรูปรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเขียว กลีบดอกรูปปากเปิด คอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี ผลแก่สีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก

ซ้อแมวเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็งสูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทาประปรายถึงหนาแน่น มีช่องอากาศกระจายทั่วไป กิ่งแก่เกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปหัวใจ รูปหัวใจ รูปรีกว้าง รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๑๕ ซม. ยาว ๗-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม พบน้อยที่มีปลายเว้าบุ๋มโคนมนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนสั้นนุ่มประปรายถึงเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่นกว่าและมีต่อมขนาดเล็กสีเหลืองกระจายทั่วไป เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบนนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. ด้านบนเป็นร่อง มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๑.๕-๗ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ดอกเล็ก มีจำนวนมาก สีขาวหรือสีขาวอมเขียว ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ มม. ใบประดับรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๒-๘ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๐.๕-๒.๕ มม. ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๑.๒-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็นรูปปากเปิด ซีกบนปลายตัดหรือแยกเป็น ๒ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ปลายแหลมหรือมน ซีกล่างปลายตัด กลีบเลี้ยงมีขนสั้นนุ่มเฉพาะด้านนอก กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓.๕-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แยกเป็นซีกบน ๑ แฉก รูปไข่ มีขนาดใหญ่สุด ปลายมน ซีกล่าง ๓ แฉก รูปขอบขนานกว้าง รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ปลายมน ผิวด้านนอกหลอดและแฉกกลีบดอกมีขนสั้นนุ่มประปราย คอหลอดดอกด้านในมีขนอุยสีขาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว คู่ยาวยาว ๓-๓.๕ มม. คู่สั้นยาว ๒.๕-๓.๒ มม.


อับเรณูรูปไข่ ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบคล้ายรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๐.๕ มม. เกลี้ยงมีต่อมสีเหลืองประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ มม. เกลี้ยง มีต่อมสีเหลืองประปรายผลแก่สีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มี ๑-๒ เมล็ด

 ซ้อแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามริมลำธารหรือลานหินในป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๕๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดียบังกลาเทศ และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซ้อแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Premna coriacea C. B. Clarke var. villosa (C. B. Clarke) A. Rajendran et P. Daniel
ชื่อสกุล
Premna
คำระบุชนิด
coriacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. villosa
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (C. B. Clarke) A. Rajendran et P. Daniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1832-1906)
ชื่ออื่น ๆ
หมีเหม็น (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จรัล ลีรติวงศ์