กะทือเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสีเหลืองอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอก กว้าง ๕-๗.๕ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. กาบใบเรียงสลับซ้อนกันดูคล้ายลำต้น สูง ๐.๙-๑.๕ ม. รอยต่อระหว่างก้านใบและกาบใบด้านในเป็นแผ่นบางเรียกว่า ลิ้นใบ ยาว ๑.๕-๒ ซม. ฤดูแล้งใบโทรมและงอกขึ้นมาใหม่ในฤดูฝน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก ออกจากเหง้า กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายและโคนมนประกอบด้วยใบประดับปลายบ้านเรียงซ้อนกันแน่น สีค่อนข้างเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นแดง ก้านช่อดอกยาว ๑๔-๔๕ ซม. แต่ละซอกใบประดับมีดอกสีเหลือง ๑ ดอก กลีบเลี้ยงเป็นหลอดบางใส ยาว ๑.๒-๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเป็นหลอดยาวบางประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกบน รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. และแฉกข้าง รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายแกนอับเรณูยืดออกไปเป็นปากนก และหุ้มยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก
ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลม สีแดง เมล็ดสีดำ
กะทือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบในทวีปเอเชียเขตร้อน นำมาปลูกทั่วไปเพื่อใช้เหง้าเป็นยาและอาหาร เหง้ามีกลิ่นหอมฉุนคล้ายเหง้าขิง รสขมเมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันหอมระเหยและเรซินที่ละลายได้ดีในอีเทอร์ (Nayudamma ed., 1976)
น้ำมันกะทือประกอบด้วย monoterpene ประมาณร้อยละ ๑๓ และ sesquiterpene อีกหลายชนิด เช่น Sesquiterpene hydrocarbon คือ humulene ร้อยละ ๒๗, monocyclic sesquiterpene ketonen คือ zerumbone ร้อยละ ๓๗.๕
สารประเภท monoterpene ที่พบในน้ำมันกะทือมี β-pinenes, camphene, △3-carene, limonene, cineole และการบูร ในบรรดาสารเหล่านี้ camphene เป็นสารที่มีปริมาณมาก นอกจากนี้ ยังพบสารอื่น ๆ แต่มีปริมาณน้อย คือ linalool, borneol, และ α-terpeneol (Nayudamma ed., 1976)
Zerumbone เป็นสารหลักที่พบในน้ำมันกะทือ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Micrococcus pyogens var. aureus และเชื้อ Mycobacterium tuberculosis นอกกาย
น้ำมันหอมระเหยในกะทือใช้ทำน้ำอบ แต่งกลิ่นสบู่ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องสุขา ยาพื้นบ้านของไทยใช้เหง้ากะทือเป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม ในอินเดียใช้เป็นยาแก้ไอ บำรุงธาตุ และบำบัดโรคผิวหนัง คนไทยนิยมใส่กะมือในแกงปลาเพื่อดับกลิ่นคาว.