โจดเขียวเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๒๕-๔๐ ซม.ลำต้นรูปทรงกระบอก เรียว ตั้งขึ้น สีเขียวด้าน มีขนสั้นนุ่มปกคลุม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบแผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน มีขนสั้นนุ่ม ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีเส้นใบ ๑ เส้น ไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด กึ่งไร้ก้าน ออกที่ซอกใบตามกิ่งซึ่งยาว ๕-๑๐ ซม. ใบประดับมีลักษณะคล้ายใบเรียงตรงข้ามหรือกึ่งตรงข้าม รูปสามเหลี่ยมแกมรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม ยาว ๒-๓ มม. ใบประดับย่อย ๒ ใบ รูปคล้ายเส้นด้าย ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวด้านแกมสีม่วงเข้ม ลักษณะเป็นกาบรูปเรือ แยกออกด้านหนึ่งจนถึงโคนกลีบ เมื่อเป็นดอกกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. และเมื่อเป็นผลกว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๘-๙ มม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอกรูปปากเปิด สีชมพู กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม.โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนล่างของหลอดโค้งเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวหลอด หันออกด้านนอกส่วนบนโป่งพองออก มีลักษณะกึ่งรูปคนโทแกมรูปแตรแฉกกลีบปากซีกบนมี ๒ แฉก รูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. แฉกกลีบปากซีกล่างมี ๓ แฉก รูปไข่กว้างแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. แฉกด้านข้างกางออก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกกัน เรียงเป็น ๒ คู่ แต่ละคู่ขนาดไม่เท่ากัน คู่ที่อยู่ด้านหลังมีก้านชูอับเรณูสั้น ติดอยู่บริเวณกึ่งกลางของหลอดกลีบดอก ส่วนคู่ที่อยู่ด้านหน้ามีก้านชูอับเรณูยาว ติดอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอกอับเรณูมี ๑ ช่อง สีขาว ปลายด้านหนึ่งแหลม มีเส้นตามยาว ก้านชูอับเรณูสีขาว ติดด้านหลังอับเรณู ส่วนบน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ปลายแหลมกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เมื่อแก่จัดแตกกลางพูเป็น ๒ ซีก เมล็ดจำนวนมาก รูปลิ่มแกมรูปขอบขนานหรือรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๐.๖ มม. มีริ้วตามยาว
โจดเขียวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่เปิดโล่ง บนชั้นดินบางซึ่งชื้นและแห้งตามฤดูกาลในป่าเต็งรัง และพบขึ้นกระจายอยู่ตามพื้นหินทราย ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๔๓๐ ม. ออกดอกและเป็นผลในช่วงเดือนกันยายน ในต่างประเทศพบทางตอนเหนือของกัมพูชา.
ประโยชน์ ใช้ทั้งต้นต้มน้ำ ดื่มเพื่อเพิ่มฮีโมโกลบินในเลือด.