ใต้ใบใหญ่เป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๖๐ ซม. กิ่งรูปทรงกระบอก มีขนหยาบแข็ง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่ กว้าง ๐.๗-๒.๒ ซม. ยาว ๑.๓-๔.๑ ซม. ปลายมนกลม โคนหยักเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนหยาบแข็งประปรายทั้ง ๒ ด้าน เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๙ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๒-๐.๕ มม. ยาว ๑.๘-๒.๕ มม. มีขนหยาบแข็งประปราย ร่วงช้า
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ดอกเล็ก สีออกน้ำตาล ห้อยลง มีใบประดับ กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคล้ายจาน ปลายม้วนเข้า อาจแยกเป็นแฉกหรือไม่แยก ไร้กลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. เกลี้ยง ยกเว้นมีขนประปรายบนก้านดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๖ มม. เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๒ มม. อับเรณูแบนราบ กว้างและยาวประมาณ ๐.๓ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. มีขนแข็ง แฉกกลีบเลี้ยงรูปไข่ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ มม. ด้านนอกมีขนแข็ง ด้านในเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แผ่แบนราบ
ผลแบบผลแห้งแยก (ยังไม่มีข้อมูลตัวอย่างผล)
ใต้ใบใหญ่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าผลัดใบผสม ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม.