โจดเป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ ขึ้นเป็นกอแน่นสูงได้ถึง ๓ ม. เหง้าเจริญทางด้านข้าง หน่อสีเขียวอมม่วงลำต้นรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีเนื้อแข็ง แตกแขนงหลายแขนงเป็นกระจุกตามข้อ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียวแคบคล้ายก้านใบ ขอบมีขนสากเล็กน้อย แผ่นใบมีขนประปรายทางด้านล่าง เส้นกลางใบเห็นชัด เส้นใบจากโคนใบเรียงขนานกับเส้นกลางใบสู่ปลายใบข้างละ ๕ เส้น มีเส้นตามขวางเห็นชัดกาบใบหุ้มปล้องมีขนทางด้านนอก ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามยอดของลำต้นที่ไม่มีใบซึ่งเจริญมาจากลำต้นใต้ดิน สูงได้ถึง ๒ ม. ช่อแขนงออกเป็นกระจุกตามข้อ ช่อดอกย่อยออกเดี่ยวรูปแถบหรือรูปขอบขนาน ยาว ๓-๔ ซม. แบนทางด้านข้าง มีก้าน เมื่อแก่ดอกย่อยจะหักและหลุดจากช่อดอกย่อย โคนช่อดอกย่อยมีกาบรองรับ ๒ กาบ ติดทนมีลักษณะเหมือนกัน เนื้อบางคล้ายกระดาษ รูปไข่ปลายแหลม กาบช่อย่อยล่างยาวประมาณ ๕ มม. กาบช่อย่อยบนยาว ๖-๗ มม. ช่อดอกย่อยมีดอกย่อย ๖-๙ ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ แต่ที่ปลายช่อเป็นดอกไม่มีเพศ ๑ ดอก ดอกย่อยมีกาบ ๒ กาบ กาบล่างรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๗-๘ มม. ปลายมน เนื้อบางคล้ายกระดาษ ด้านในมีขนสั้นนุ่ม มีเส้นตามยาว ๑๑-๑๕ เส้น กาบบนยาวเกือบเท่ากาบล่าง เป็นสัน ๒ สัน ปลายตัด ขอบมีขนครุย มีเส้นตามยาว ๗ เส้น มีกลีบเกล็ด ๓ กลีบ เป็นเยื่อบาง ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูยาว ๓.๕-๔ มม. ก้านชูอับเรณูสั้น ติดที่กลางอับเรณูและไหวได้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโคนเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่คล้ายขนนก ๓ พู่ สีแดง
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด มีขนาดเล็ก
โจดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าเต็งรัง บนพื้นที่ราบสูงเป็นหินทราย ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.