ไคร้มด ๒

Glochidion acuminatum Müll. Arg. var. siamense Airy Shaw

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีขนกำมะหยี่ทั่วไป ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ สีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น สีเขียวถึงสีน้ำตาล เป็นมัน เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว

ไคร้มดชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๖ ม. เปลือกแตกเป็นร่อง สีดำหรือสีเทา มีขนกำมะหยี่ทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี มักโค้งเป็นเคียว กว้าง ๑.๖-๔.๔ ซม. ยาว ๔.๓-๑๓.๗ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนเบี้ยว สอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ค่อนข้างเกลี้ยง หรือมีขนตามเส้นใบ ด้านล่างสีเขียวอมเทา อ่อนเนื่องจากมีไขอยู่ทั่วไป ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนกำมะหยี่ เส้นกลางใบและเส้นใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๓.๒ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบมีใบประดับ แต่ละกระจุกมีดอกเพศผู้ ๕-๒๐ ดอก ดอกเพศเมีย ๑-๓ ดอก สีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง กลีบวงนอกมีขนาดใหญ่กว่า ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔.๕ มม. ก้านดอกยาว ๔.๕-๕ มม. มีขนกำมะหยี่ กลีบเลี้ยงแข็ง รูปไข่กลับ ปลายแหลม สีเขียวถึงสีเหลืองอ่อนกลีบวงนอกกว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๒-๒.๘ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อยและพับจีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูสีเหลือง ยาวประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูยื่นเป็นซี่ฟันแหลม ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. สีเหลืองอ่อนดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓.๕ มม. ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. กลีบวงนอกรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๖ มม. กลีบวงในรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลมแป้น กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียสีเหลือง ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายหยักเป็นซี่ฟันเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น เป็นพู กว้างได้ถึง ๘ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. พบบนกิ่งที่ใม่มีใบเมื่ออ่อนมีขนยาว รอยเชื่อมเห็นไม่ชัด สีเขียวถึงสีนํ้าตาลเป็นมัน ผนังผลบางมาก แกนกลางผลยาว ๑.๕-๑.๘ มม. แต่จะเหลืออยู่เฉพาะที่ส่วนโคนเป็นรูปสามเหลี่ยม เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. หนาประมาณ ๒.๕ มม.

 ไคร้มดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามทุ่งหญ้าโล่ง และที่รกร้างว่างเปล่าที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๑๐๐-๑,๗๕๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้

 ประโยชน์ ยอดอ่อนมีรสหวานกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้มด ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion acuminatum Müll. Arg. var. siamense Airy Shaw
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
acuminatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. siamense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Airy Shaw
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1828-1896)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต