ใต้ใบหินเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๐.๕-๑๐ ม. กิ่งมักคดไปมา ข้อปล้องเห็นชัด มีขนประปราย มีรอยแผลหูใบเห็นชัด
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๒-๕ ซม. พบบ้างที่กว้างได้ถึง ๑๔ ซม. ยาว ๒.๕-๑๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๓๖ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมนถึงจักฟันเลื่อยตื้น บางครั้งขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือมีขนประปราย เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๓ เส้น ค่อนข้างขนานกันและโค้งใกล้ขอบใบ มักมีตุ่มขนที่ซอกเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. เกลี้ยง หูใบรูปสามเหลี่ยม รูปใบหอก หรือรูปเคียว ยาว ๐.๖-๑.๖ ซม. เกลี้ยง ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามซอกใบ ยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. มีข้อต่อใกล้โคนก้าน ใบประดับขนาดเล็ก ดอกสีขาว สีเหลืองนวล หรือสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ยาว ๑-๒ มม. มีขนตามขอบ กลีบดอก ๕ กลีบ แบนคล้ายเส้นหนัง มักคล้ายตัวเอส เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยถึงครึ่งหนึ่งของความยาวเกสรเพศผู้ อับเรณูตั้งตรง แตกเป็นช่องตามยาว แกนอับเรณูด้านหลังขยายออกเป็นรยางค์รูปสามเหลี่ยม ด้านบนมีขนาดและรูปร่างไม่เท่ากัน ด้านล่างรยางค์มีขนาดเล็ก จานฐานดอกกลม จักเป็น ๕ พู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง พบน้อยที่มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียตรง เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๕ ซม. เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกติดทน ผลมี ๓ พู เมื่อแก่แตกเป็น ๓ เสี่ยง เมล็ดรูปทรงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ มม. สีน้ำตาลอมเหลือง มีจุดสีม่วงเข้ม มีได้ถึง ๓ เมล็ด
ใต้ใบหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบ เขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย.