ตองแห้ง ๒

Exallage cristata (Willd.) Nandikar et K. C. Kishor

ไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี กิ่งและลำต้นรูปทรงกระบอก มีร่องตามยาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปรี หูใบระหว่างก้านใบปลายแยกเป็นแฉกคล้ายหวี มี ๕-๗ แฉก มีขนอุยหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว สีขาวปนสีชมพูอ่อน หรือสีขาวแกมสีม่วง ผลแบบผลแห้งไม่แตก คล้ายรูปทรงกลม มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงสามเหลี่ยม เว้าด้านข้างขั้ว นูนหรือแบนด้านตรงข้าม แต่ละช่องมี ๓-๔ เมล็ด

ตองแห้งชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี ทอดนอนหรือทอดชูยอด โคนต้นแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ กิ่งและลำต้นรูปทรงกระบอก มีร่องตามยาว มีขนอุย หนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปรี กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๘.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนอุยทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาว ๔-๗ มม. หูใบระหว่างก้านใบปลายแยกเป็นแฉกคล้ายหวี มี ๕-๗ แฉก มีขนอุย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาว ๔-๘ มม. ดอกสีขาว สีขาวปนสีชมพูอ่อน หรือสีขาวแกมสีม่วง มี ๒ แบบ คือ ดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นและมีเกสรเพศผู้ยาวกับดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียยาวและมีเกสรเพศผู้สั้น ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ มม. ปลายแหลม ตั้งตรง มีขนอุยประปราย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๑.๗ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนอุยที่ปลายกลีบ ด้านในมีขนสั้นหนานุ่มที่กลางหลอดกลีบดอกถึงปากหลอด เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียยาว เกสรเพศผู้มีก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. อับเรณูทรงรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๐.๘-๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. ดอกที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น เกสรเพศผู้มีก้านชูอับเรณูยาว ๐.๖-๐.๘ มม. อับเรณูทรงรูปไข่ ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๐.๓-๐.๔ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปคล้ายทรงกลม กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๐.๘-๑ มม. ผนังหนา มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงสามเหลี่ยม เว้าด้านข้างขั้ว นูนหรือแบนด้านตรงข้าม แต่ละช่องมี ๓-๔ เมล็ด

 ตองแห้งชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ป่าผลัดใบ พื้นที่โล่ง หรือใต้ร่มไม้ที่มีความชื้นสูง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองแห้ง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Exallage cristata (Willd.) Nandikar et K. C. Kishor
ชื่อสกุล
Exallage
คำระบุชนิด
cristata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig
- Nandikar, Mayur Dhondiram
- Kishor, K.C.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig (1765-1812)
- Nandikar, Mayur Dhondiram (1983-)
- Kishor, K.C. (fl. 2019)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.คณิต แวงวาสิต