ชงโคแดง

Bauhinia galpinii N. E. Br.

ชื่ออื่น ๆ
กาหลงแดง (กรุงเทพฯ)
ไม้พุ่มหรือกึ่งไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลมปลายแยกเป็น ๒ แฉก หยักลึกหนึ่งในห้าถึงหนึ่งในสี่ของความยาวแผ่นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้นออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีแดงอมชมพูถึงสีแดงอิฐ ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานแบน แข็ง ขอบหนา เมล็ดรูปทรงกระบอกถึงรูปไข่กลับ สีน้ำตาลเป็นมัน


 ชงโคแดงเป็นไม้พุ่มหรือกึ่งไม้รอเลื้อย ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๓ ม. ไม่มีมือจับ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลม มักกว้างมากกว่ายาวเล็กน้อย มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก หยักลึกหนึ่งในห้าถึงหนึ่งในสี่ของความยาวแผ่นใบ ส่วนเว้ากว้าง มีติ่งหนามสั้นนุ่ม ปลายสุดของแฉกกลมมน โคนเว้ารูปหัวใจตื้นและกว้าง ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียว เกลี้ยงด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนประปราย บริเวณขอบมีเกล็ดสีเหลือง เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ก้านใบเรียว ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนประปราย หูใบรูปแถบ ยาว ๑-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี ๒-๓ ดอก แกนช่อมีขนสีน้ำตาลประปราย ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. ใบประดับย่อยขนาดเล็ก เป็นขนแข็งติดอยู่ที่โคนฐานดอกรูปถ้วย ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. มีขนประปราย ดอกตูมรูปกระสวย ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแหลม ฐานดอกรูปกรวยแคบ ยาว ๒-๓ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น มีริ้วเล็ก ๆ ตามยาว ดอกบานมี


เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๘ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ ซม. เชื่อมกันในดอกตูม แยกออกลักษณะคล้ายกาบ เมื่อดอกบานมีขนสีน้ำตาลประปราย กลีบเลี้ยงโค้งพับลงเมื่อดอกใกล้โรย กลีบดอกสีแดงอมชมพูถึงสีแดงอิฐ มี ๕ กลีบ รูปช้อน กว้าง ๑.๕-๒.๖ ซม. ความยาวรวมก้านกลีบ ๓-๓.๕ ซม. เกลี้ยง ขอบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย มีก้านกลีบเด่นชัด ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ที่สมบูรณ์ ๓ เกสร อวบมีเนื้อ ยาวเท่ากับกลีบดอก เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปรี

ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๗ เกสร ลักษณะคล้ายหลอดเล็ก ยาว ๒-๓ มม. มีก้านรังไข่ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงประปราย มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยงยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก เห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. แบน แข็งขอบหนา สีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาล เกลี้ยง มีก้านยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดรูปทรงกระบอกถึงรูปไข่กลับกว้างประมาณ ๘ มม. สีน้ำตาลเป็นมัน มี ๓-๕ เมล็ด

 ชงโคแดงเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชงโคแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia galpinii N. E. Br.
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
galpinii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Nicholas Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1849-1934)
ชื่ออื่น ๆ
กาหลงแดง (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์