งิ้วป่าดอกแดงเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีค่อนข้างขาว ลำต้นมักมีหนามแข็งเกิดจากผิว รูปกรวยสั้นหรืออาจไม่มี กิ่งแผ่กางออกจนเกือบตั้งฉากกับลำต้น มีหนาม กิ่งอ่อนอวบสั้น มีรอยแผลใบชัดเจน
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มักออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ก้านใบยาว ๑๔-๓๕ ซม. เกลี้ยงใบย่อย ๕-๙ ใบ ขนาดไม่เท่ากัน ใบย่อยด้านนอกเล็กกว่าด้านในมาก รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๕-๑๒.๕ ซม. ยาว ๑๐-๔๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีขนประปราย เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๒๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่างก้านใบย่อยยาว ๑-๑.๕ ซม. หูใบร่วงง่าย
ดอกเดี่ยว ออกเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่งดอกตูมรูปรี กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทถึงรูปหลอด แข็ง กว้าง ๒-๒.๕ ซม.ยาว ๓-๓.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนประปรายหรือเกือบเกลี้ยง ด้านในมีขนแบบขนแกะ กลีบดอก ๕ กลีบ สีแดงหรือสีแสดเข้มบางครั้งอาจพบสีขาว รูปไข่กลับถึงรูปใบหอกกลับหรือค่อนข้างเป็นรูปช้อน กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๙-๑๓ ซม. มีขนสั้นนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีขาวถึงสีน้ำตาลอ่อนทั้ง ๒ ด้าน ด้านนอกหรือด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าทางด้าน
ผลแบบผลแห้งแตก แข็ง รูปขอบขนานแกมรูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๑๘-๒๕ ซม. มีสันตามยาว ๕ สัน มักโค้งไปด้านหนึ่ง เมื่อแก่แตกออกเป็น ๕ ส่วน เมล็ดจำนวนมาก มีขนหนาแน่นเป็นเส้นใยสีขาวแบบขนแกะ ยาวและมันวาวคล้ายเส้นไหม
งิ้วป่าดอกแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ บริเวณภูเขาหินปูน และป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๗๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ลาว และมาเลเซีย
ประโยชน์ เส้นใยที่หุ้มเมล็ดใช้ยัดฟูกและหมอนเนื้อไม้ใช้ทำของเล่นและเครื่องเรือน ทางภาคเหนือใช้เกสรเพศผู้ตากแห้งประกอบอาหาร.