ครามดอยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๐.๕-๒ ม. กิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนสั้นรูปตัวที (T) ปลายทั้ง ๒ ข้างของขนขนาดใกล้เคียงกัน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านใบยาว ๗-๑๕ ซม. หูใบเรียว ยาว ๒-๕ มม. ใบย่อย ๑๑-๒๕ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๗-๒ ซม. ยาว ๑.๒-๒.๗ ซม. ปลายมนหรือหยักเล็กน้อย โคนมน ขอบเรียบ มีขนสั้นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทางด้านล่าง หูใบย่อยเรียว เล็กมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๕-๑๐ ซม. ใบประดับรูปท้องเรือ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว ยาว ๑๕-๒๐ มม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ขนาดใกล้เคียงกัน มีขนสั้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูอมม่วงกลีบกลางรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๑.๕-๑.๗ มม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปเรียวเล็ก มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ เล็กเรียวยาว ๓-๔.๕ ซม. เมื่อแก่แห้งแตกตามรอยประสานเป็น ๒ ซีก เมล็ดเล็ก มี ๙-๑๓ เมล็ด สีนํ้าตาลเข้ม
ครามดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในที่โล่งค่อนข้างแห้งแล้งในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ปากีสถาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.