ขางนาม

Senecio namnaoensis H. Koyama

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรง มักมี ๒ กิ่ง ใบเดี่ยวเรียงเวียน ใบที่อยู่กลางกิ่งรูปใบหอก รูปแถบถึงรูปใบหอกกลับ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงหลั่น ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี มีกลีบเลี้ยงติดทนเป็นเส้นสีขาว เมล็ดขนาดเล็ก รูปคล้ายผล

ขางนามเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าสั้น ลำต้นตั้งตรง เมื่อเจริญเต็มที่มักมี ๒ กิ่ง กิ่งหนึ่งแตกกิ่งก้าน สูง ๔๐-๘๐ ซม. สูงรวมช่อดอก ๑.๒-๒ ม. มีใบจำนวนน้อย อีกหนึ่งกิ่งมีใบจำนวนมาก ไม่มีดอก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีใบน้อย ใบที่อยู่กลางกิ่งรูปใบหอก รูปแถบถึงรูปใบหอกกลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบจนถึงก้านสั้นหรือมีส่วนโคนโอบลำต้น ขอบจักฟันเลื่อยถี่ไม่สม่ำเสมอ เกลี้ยงหรือมีขนทั้ง ๒ ด้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงหลั่น ช่อย่อยจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก ๑.๗-๒.๕ ซม. มีแต่ดอกวงใน มีก้านสั้น วงใบประดับรูประฆัง กว้างและยาว ๖-๗ มม. ที่โคนมีริ้วประดับคล้ายกลีบเลี้ยง ใบประดับมี ๑๘ ใบ รูปขอบขนานแคบ ปลายเรียวแหลม มีขนครุยเล็กน้อย ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๓-๖ มม. ดอกย่อยมีประมาณ ๖๐ ดอก ยาวประมาณ ๗.๕ มม. กลีบเลี้ยงเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย กลีบดอกสีเหลืองโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่แคบยาวประมาณ ๔ มม. ปลายผายออก ยาวประมาณ ๓.๕ มม. ปลายสุดแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเป็นเส้น อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน เชื่อมติดกันทางด้านข้าง โคนอับเรณูป้าน ปลายมีรยางค์รูปไข่แกมรูปใบหอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายตัด ตามขอบมีตุ่มอยู่ทั่วไป

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี ยาว ๑.๕-๓ มม. เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนเป็นเส้นสีขาว ยาวประมาณ ๗ มม. เมล็ดขนาดเล็ก รูปคล้ายผล

 ขางนามเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในทุ่งหญ้าใกล้ยอดเขาและตามชายป่าเต็งรังผสมป่าสนเขา ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมกราคม

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางนาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Senecio namnaoensis H. Koyama
ชื่อสกุล
Senecio
คำระบุชนิด
namnaoensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Koyama, Hiroshige
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1937-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.จิรายุพิน จันทรประสงค์