กระเจี๊ยบ

Abelmoschus esculentus (L.) Moench

ชื่ออื่น ๆ
กระเจี๊ยบมอญ, มะเขือทวาย, มะเขือมอญ (กลาง); มะเขือพม่า, มะเขือมื่น, มะเขือละโว้ (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ลำต้นสีเขียวแกมแดง มีขน ใบเรียงเวียนรูปใบมีหลายแบบ ดอกออกตามง่ามใบ มีริ้วประดับสีเขียว กลีบดอกสีเหลือง โคนกลีบสีม่วงแดง ฝักเป็นห้าเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม

กระเจี๊ยบเป็นไม้ล้มลุก สูง ๐.๕-๒ ม. ลำต้นสีเขียว เขียวแกมแดง หรือมีประม่วงแดง มีขนทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๑๐-๓๐ ซม. ปลายหยักแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ใบที่อยู่ตอนกลางกิ่งหรือกลางลำต้นขึ้นไปมีขอบใบหยักเว้า ๓-๗ หนัก ส่วนใบใกล้โคนต้นขอบใบไม่หยก เส้นโคนใบ ๓-๗ เส้น ก้านใบยาว ๑๐-๓๐ ซม. หูใบเป็นเส้นเรียว ยาว ๑-๑.๕ ซม.



 ดอกใหญ่ ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียว ๘-๑๐ เส้น ยาว ๑-๑.๕ ซม. เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ดอกอ่อนกลีบติดกัน ดอกแก่แยกจากกันด้านเดียวเป็นกาบยาว ๑.๕-๓ ซม. ปลายกลีบหยักฟันเล็ก ๆ ๕ หยัก กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง โคนกลีบสีม่วงแดง รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๔ ซม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว ๒-๓ ซม. หุ้มเกสรเพศเมียไว้ อับเรณูเล็ก มีจำนวนมากติดอยู่รอบหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ขนาดเล็กรูปกรวยคว่ำ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลมขนาดเล็ก สีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก

 ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกห้าเหลี่ยมปลายเรียวแหลมกว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. มีขนทั่วไป มีเมล็ดมากรูปไต ขนาด ๓-๖ มม. เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

 กระเจี๊ยบเป็นพรรณไม้ถิ่นเดิมแถบเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทั่วทุกภาคมานานแล้ว ในต่างประเทศปลูกกันมากในเขตร้อนทั่วไป

 ฝักอ่อนกินได้ มีคุณค่าทางอาหารสูง นำมาบรรจุเป็นอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็งส่งออก เมล็ดแก่มีน้ำมันมาก กากเมล็ดมีโปรตีนเหมาะสําหรับใช้เลี้ยงสัตว์ เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระดาษ นอกจากนี้ โรงงานผลิตน้ำตาลบางแห่งในอินเดียยังนำเมือกจากต้นมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด (Thacker ed., 1959) ในยาแผนโบราณของจีนใช้ราก เมล็ด และดอกเป็นยาขับปัสสาวะ (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเจี๊ยบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Abelmoschus esculentus (L.) Moench
ชื่อสกุล
Abelmoschus
คำระบุชนิด
esculentus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Moench, Conrad
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Moench, Conrad (1744-1805)
ชื่ออื่น ๆ
กระเจี๊ยบมอญ, มะเขือทวาย, มะเขือมอญ (กลาง); มะเขือพม่า, มะเขือมื่น, มะเขือละโว้ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์