โตงโฮ้ง

Microglossa pyrifolia (Lam.) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
ขาเบีย (เพชรบูรณ์); โตงฮุ้ง (เชียงใหม่)
ไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อย ลำต้นมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรุปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอดหรือซอกใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่นคล้ายรูปจาน วงใบระดับรูประฆัง ดอกสีขาว สีนวล ถึงสีเหลืองอ่อน ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ แบบดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย และแบบดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกระสวย มีสัน มีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นขนแข็ง มีเมล็ด ๑ เมล็ด

โตงโฮ้งเป็นไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อย สูงได้ถึง ๒ ม. ลำต้นมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ เป็นคลื่น หรือหยักมนเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและขนต่อมทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่นคล้ายรูปจาน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. วงใบประดับรูประฆัง กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ๔-๕ ชั้น รูปใบหอก ชั้นนอกมีขนประปราย ชั้นในบางและแห้ง ฐานดอกร่วมนูน มีขนครุย ดอกสีขาว สีนวล ถึงสีเหลืองอ่อน ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ แบบดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี ๓-๔ ชั้น กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นขนแข็ง กลีบดอกสีขาว สีนวล ถึงสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๆ และแบบดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปหลอด กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นขนแข็ง กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๓-๕ แฉก ยาวประมาณ ๐.๗ มม. มีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูยาว ๑-๑.๓ มม. เชื่อมติดกันทางด้านข้างและหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๘-๔.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปไข่

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปคล้ายกระสวย มี ๓-๔ เหลี่ยม ยาวประมาณ ๑.๓ มม. ค่อนข้างแบน มีขนแข็งสั้นและกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นขนแข็ง ยาวประมาณ ๔-๕ มม. สีค่อนข้างแดง มีขนสั้น มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 โตงโฮ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบตามทุ่งหญ้าตามไหล่เขา ในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๕๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดทั้งปี ในต่างประเทศพบที่เขตร้อนของแอฟริกา อินเดีย ภูฏาน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โตงโฮ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Microglossa pyrifolia (Lam.) Kuntze
ชื่อสกุล
Microglossa
คำระบุชนิด
pyrifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de (1744-1829)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
ขาเบีย (เพชรบูรณ์); โตงฮุ้ง (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.พิมพ์วดี พรพงศ์รุ่งเรือง